กล้องดักถ่ายจับภาพ "เสือโคร่ง" ตัวใหม่ ในพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมตอกย้ำความสมบูรณ์ของพื้นที่
วันที่ 12 ม.ค. 2567 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รายงานผลการปฏิบัติงานการสำรวจสัตว์ป่าด้วยกล้อง camera trap ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs) ประเทศไทย เผยพบภาพถ่ายเสือโคร่งตัวใหม่ในพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำเพชรบุรี เมื่อวันที่ 8-11 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา และตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ได้ภาพเสือโคร่ง 2 เหตุการณ์ ถ่ายภาพได้วันที่ 27 ธันวาคม 2566 และ 31 ธันวาคม 2566 นั้น
ตรวจสอบภาพและคลิปที่ถ่าย ผลการเปรียบเทียบลายเสือพาดกลอน พบว่าเป็นตัวที่ปรากฏใหม่ในพื้นที่ เป็นเสือโคร่งวัยรุ่นๆ ไม่ทราบเพศ จึงให้รหัสประจำตัว เป็น KKT-004
ทั้งนี้ เสือโคร่งตัวที่พบก่อนหน้า คือ KKT-001F ชื่อ "ญาญ่า" พบตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2563 KKT-002M ชื่อ "ณเดชน์" พบตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน KKT-003 พบเมื่อวันที่ 18, 19 และ 23 พฤศจิกายน 2566
จากการปรากฏตัวของเสือโคร่งเพิ่มขึ้นในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดังกล่าว พิสูจน์ได้ว่าบริเวณต้นน้ำเพชรบุรีมีประชากรสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง อุดมสมบูรณ์ เช่น กวางป่า กระทิง และหมูป่า นอกจากนั้นยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น จระเข้น้ำจืด ลิง ค่าง สัตว์ตระกูลเสือชนิดอื่นๆ นกชนิดต่างๆ รวมทั้งแมลง กลุ่มป่าแก่งกระจานจึงเป็นสถานที่ที่ควรสงวนไว้ให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธาร.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช