- "หูฉลาม" หนึ่งในเมนูแสนแพง ที่ต้องแลกมากับชีวิตของ "ฉลาม" ซึ่งถือเป็นผู้รักษาสมดุลของมหาสมุทร
- องค์กรไวล์ดเอด ร่วมกับทีมวิจัย ศึกษาชนิดของหูฉลามที่ขายอยู่ในประเทศไทย พบว่า 62% เป็นพันธุ์ฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
ยังคงอยู่กับเทศกาลงานเลี้ยง งานสังสรรค์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอาจจะยาวไปจนถึงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การรับประทานอาหารในช่วงนี้ หลายคนคงเลือกอาหารที่เป็นมื้อพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลอง และหนึ่งในเมนูที่บ่งบอกถึงการเฉลิมฉลอง รวมถึงมีความหมายดี คงไม่พ้น "ซุปหูฉลาม"
ซึ่ง "หูฉลาม" ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ที่ผ่านมามีการบริโภคจำนวนมากในเอเชียในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ออกมาตำหนิการบริโภคหูฉลาม เพื่อปกป้องสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เช่นเดียวกับ “องค์กรไวล์ดเอด” (Wildaid) ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการรณรงค์ผ่านแคมเปญ #ฉลองไม่ฉลาม เนื่องจากพบว่า มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง เนื่องจากการแสวงหาประโยชน์ที่มากเกินไปในปัจจุบัน
ทั้งนี้ องค์กรไวล์ดเอด ร่วมกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ เผยผลวิจัยการระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายอยู่ในประเทศไทย โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า ชีวโมเลกุล (DNA-based species identification of shark fins traded in Thai markets) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ระบุพันธุ์ฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลาม โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า หูฉลามที่ขายในไทยนั้น อาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
สำหรับผลการวิจัยที่สำคัญ พบว่า จากการตรวจดีเอ็นเอในหูฉลาม หรือครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่าง ที่เก็บจากแหล่งค้าในจังหวัด พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์
โดยฉลามส่วนใหญ่ (62%) ที่พบในหูฉลามที่ขายอยู่ในไทย มาจากฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยมีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN Red List
นอกจากนี้ ยังพบฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งทั้งในระดับโลกและในไทยที่หลายคนรู้จัก เช่น ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน, ฉลามหัวค้อนใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย รวมถึง ฉลามหางจุด, ฉลามจมูกยาว และ ฉลามหูดำเล็ก
ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ของฉลาม และปลากระเบนทั่วโลก ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงมากเกินขนาด เพราะความต้องการนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค สอดคล้องกับการลดลงของประชากรฉลามในหลายส่วนทั่วโลก ทั้งๆ ที่ฉลาม ถือเป็นผู้รักษาสมดุลของมหาสมุทร ที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเล ระบบนิเวศที่อาจถูกทำลายลง จากการล่าเพื่อนำหูฉลาม หรือครีบฉลาม มาปรุงเป็นอาหารที่แสนแพง ทั้งๆ ที่หูฉลาม ไม่ได้มีรสชาติใดๆ แต่รสชาติที่ได้มาจากน้ำซุปที่ถูกปรุงขึ้นมาต่างหาก.