• Future Perfect
  • Articles
  • มหาดไทย Kick-Off ขับเคลื่อน "ธนาคารขยะ"

มหาดไทย Kick-Off ขับเคลื่อน "ธนาคารขยะ"

Sustainability

ความยั่งยืน3 ม.ค. 2567 13:10 น.

มหาดไทย Kick-Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ ร่วมกับ อปท. 7,773 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้า 60 วัน ทุก อปท. ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย 1 แห่ง 

วันที่ 3 ม.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในวันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,773 แห่ง ได้เริ่ม Kick-Off การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดการขยะมูลฝอย โดยดำเนินการตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ

ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศ (Best Practice) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลผาสามยอด จังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลตำบลหนองล่อง จังหวัดลำพูน ตั้งแต่วันที่ 5-17 ตุลาคม 2566 เพื่อถอดบทเรียน จัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เกี่ยวกับการดำเนินการศึกษาจัดทำแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนี้ เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขาย เพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากประชาชน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่างๆ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนั้น จังหวัดจะเป็นหน่วยงานรวบรวมและบันทึกในแบบรายงานของจังหวัด เพื่อให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานติดตามและรายงานผล คือ วันที่ 22 มกราคม 2567 เป็นการเตรียมความพร้อมในการมีฐานข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน (การจัดการขยะมูลฝอย การคัดแยกขยะมูลฝอย ผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่) พร้อมทั้งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะในพื้นที่ และมีการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ และประกาศจัดตั้งคณะทำงานธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน 

จากนั้น วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายต่างๆ ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน มีหน้าที่ในการประชุมและการสำรวจผู้ประกอบการรับซื้อในชุมชน ราคา ประเภทของขยะรีไซเคิลที่รับซื้อ ประสานงานผู้รับซื้อให้เข้าร่วมธนาคารขยะในราคา ระยะเวลา และสถานที่ที่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่เข้ารับซื้อตามความเหมาะสม มีการจัดทำระเบียบ/ข้อบังคับธนาคารขยะ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และอำนาจในการบริหาร คณะทำงานฯ และฝ่ายต่างๆ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงาน เช่น การรับสมัคร การรับซื้อขยะ การประชาสัมพันธ์ การทำบัญชี พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินงานธนาคารขยะกับชุมชน โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการร่วมกับอาสาสมัคร ท้องถิ่นรักษ์โลก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความน่าสนใจของการเป็นสมาชิกธนาคารขยะ

และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นวันแห่งการขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งจะมีการเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน โดยกําหนดวัน เวลา และสถานที่ในการรับสมัครที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์การรับสมัครให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบ พร้อมทั้งมีการประชุมทำความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะที่ขายได้-ขายไม่ได้ และแจ้งกำหนดการในการรับซื้อขยะรีไซเคิลให้สมาชิกได้รับทราบ.

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |