• Future Perfect
  • Articles
  • ทำความเข้าใจหลักการ 3R : มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร

ทำความเข้าใจหลักการ 3R : มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร

Sustainability

ความยั่งยืน1 ม.ค. 2567 19:57 น.
  • สรุปสถานการณ์พิษ PM 2.5 ปี 2566 รุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"
  • มาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 จัดการปัญหามลภาวะทางอากาศ เพื่อความยั่งยืน
  • ทำความรู้จักหลักการ 3R : มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร

ยังคงเป็นวาระแห่งชาติที่เราทุกคนจะต้องหาทางแก้ไข และเตรียมรับมือ สำหรับฝุ่น PM 2.5 ที่ถึงแม้เราจะก้าวเข้ามาสู่ปีใหม่ 2567 แล้ว ก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่กระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตของเรา ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นการเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง และโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงไฟป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี

สถานการณ์ฝุ่นปี 2566 รุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เสนอให้จัดทำมาตรการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 พร้อมเสนอกลไกแก้ไขปัญหาทั้งระดับชาติ และระดับพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5

โดยในปี 2566 ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง และปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ และจะรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2567

ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานแนวโน้มสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง 7 วันล่วงหน้า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จะต้องเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 1 - 6 ม.ค. 2567 ส่วนพื้นที่ภาคใต้แนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง

มาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 และกลไกบริหารจัดการ ที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ อีกทั้งได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง "คณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน" โดยได้เสนอให้มีกลไกการบริหารจัดการ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ภายใต้กรอบแนวคิด ดังนี้ 

  1. การกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้า โดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก 
  2. สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนสนับสนุนการแก้ไขปัญหา เพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ 
  3. จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อสั่งการลงสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแบบถาวร 
  4. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน 
  5. ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียน ไปสู่ระดับทวิภาคี
  6. ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด และต่อเนื่อง เพื่อให้ส่วนราชการได้นำมาตรการดังกล่าว ไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน และบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับการกำหนดค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM 2.5 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ต้องลดลง 40% กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ ต้องลดลง 10% และภาคกลางลดลง 20%

สำหรับจำนวนวันที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน กำหนดให้ภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือลดลง 5% และภาคกลาง 10% อีกทั้งมีการตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่อื่นๆ ลดลงร้อยละ 10 

หลักการ 3R : มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร ภายใต้หลักการ 3R ดังนี้

  1. Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผาในทุกขั้นตอนการผลิต
  2. Replace with high value crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูง ให้เป็นการปลูกพืชที่ปลอดการเผา และลดการบุกรุกป่า จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้จากพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน
  3. Replace with Alternate crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ จากพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวปรับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้หมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ลดใช้น้ำ ปลูกพืชแบบปลอดการเผา บริหารจัดการผลผลิตตลอดจนการจำหน่าย
SHARE

Follow us

  • |