มทส. เปิดตัว เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION) นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย ต้นทุนต่ำ ไม่กระทบเครื่องยนต์ ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้จริง
วันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวผลงานวิจัยและนวัตกรรม "เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION)" ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดยฝีมือคนไทย รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มทส. และคณะ โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมชมสาธิตการทำงาน พร้อมผลักดัน ขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง หวังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น
รศ.ดร.อนันต์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน หรือ Innovation and Sustainable University ตามยุทธศาสตร์การบริหารงาน SUT2025 ที่มุ่งเน้นการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการเพื่อพัฒนากำลังคนในอนาคต ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals: SDGs เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายของสังคมโลก อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
นักวิจัย มทส. โดย รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มทส. ได้มุ่งไปที่ต้นเหตุสำคัญของฝุ่น PM 2.5 ในเมืองใหญ่นั้นคือการใช้รถยนต์ การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านพลาสมาไอออน (Plasma ION) มาประยุกต์ใช้จนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สามารถผลิตเป็นเครื่องต้นแบบพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและผู้สนใจ หวังเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษของเมืองต่อไป
ด้าน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีบทบาทที่จะเป็นแกนเชื่อมโยงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการอื่นๆ ผ่านคณะกรรมการฯ กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือด้านต่างๆ กับภาครัฐ และภาคการศึกษา ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ผ่านกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เป็นการสร้างกำลังคนคุณภาพ คู่ขนานไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เข้มแข็งไปด้วยกัน
นวัตกรรมช่วยลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ ของคณะนักวิจัย มทส.ในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่เข้ามาช่วยลดปัญหามลภาวะของเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาทางเอกชนเราเองได้มีความพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด จากผลสำเร็จในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ และขยายผลความร่วมมือในอนาคตระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการขนส่งด้านยานยนต์ เชื่อมั่นว่านวัตกรรมชิ้นนี้จะสามารถต่อยอดสู่สังคมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น BCG model การมุ่งสู่ความยั่งยืน SDGs การถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมไทยต่อไป
รศ.ดร.ชาญชัย นักวิจัย เปิดเผยว่า เครื่องต้นแบบลดควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์ด้วยพลาสมาไอออน (Plasma ION) ได้แนวคิดและพัฒนานวัตกรรมจากสภาพแวดล้อมทางอากาศในปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งฝุ่นละออง และควันไอเสียจากยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในขณะนี้ มีหลักการทำงานของเครื่องคือ การสร้างสนามไฟฟ้าสถิตที่มีขั้วไฟฟ้าที่แตกต่างกันขึ้นมา ระหว่างควันมลพิษ PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์กับแผ่นเพลตโลหะ ทำให้ควันมลพิษ PM 2.5 ถูกดูดมาติดที่แผ่นเพลตโลหะ
ทั้งนี้ จากการทดสอบค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถตู้ดีเซลขนาดเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี อายุใช้งานประมาณ 5 ปี เมื่อติดเครื่องยนต์มีค่าอยู่ที่ประมาณ 2,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อทำการเปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าลดลงมาเหลือประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากนั้นปิดเครื่องพลาสมาไอออน พบว่าค่าเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดิม และเมื่อดับเครื่องยนต์ ค่ากลับมาอยู่ที่ 0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงผลได้ว่าเครื่องพลาสมาไอออนช่วยลดค่าควันมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการติดตั้งเครื่องพลาสมาไอออน (Plasma ION) จะทำการติดตั้งต่อโดยตรงที่ท่อไอเสีย หรือแทนที่ท่อพักของไอเสียรถยนต์ จึงไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อีกทั้งยังมีราคาถูกผลิตได้เองภายในประเทศ สะดวก ดูแลรักษาง่าย ถอดไส้กรองล้างทำความสะอาดได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมด้านการขนส่งและด้านยานยนต์ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี โดยนวัตกรรมดังกล่าวใช้งบประมาณเพียง 5,000 บาท คาดหวังว่าช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองใหญ่อีกทางหนึ่งด้วย.