ไทยคม ร่วมมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอวกาศ ยกระดับการประเมินคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่ป่าของประเทศไทย
วันที่ 19 ธันวาคม 2566 มีรายงานว่า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจดาวเทียมแห่งเอเชีย และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ นำโดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงนามความร่วมมือกับ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากว่า 50 ปี ในการดำเนินโครงการเผยแพร่องค์ความรู้ ขับเคลื่อนนโยบาย และให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ไทยคมได้นำแพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิตที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ประเมินปริมาณมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับชุมชนอยู่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พร้อมต่อยอดไปใช้สร้างประโยชน์ในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ของประเทศไทยต่อไป
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไทยคมมีบทบาทสำคัญในการนำความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial data) และวิเคราะห์กับเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) เพื่อพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิต ส่วนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความรู้ในด้านคาร์บอนเครดิต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้เข้าสู่โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) พัฒนาขึ้นโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมมีพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีอวกาศมาต่อยอดเป็นโซลูชัน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และยังส่งผลให้เราได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง Sustainability Award 2023 และการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AAA ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงนับเป็นก้าวสําคัญในการนำโซลูชันด้านการประเมินคาร์บอนเครดิต ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของเราในด้านดาวเทียมสำรวจระยะไกล และข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial) มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) เพื่อตรวจสอบสุขภาพป่าไม้ และประเมินปริมาณมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งนับเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเราที่มุ่งขับเคลื่อนให้องค์กรและประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในอนาคต
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนิน "โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" มาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนรวม 194,850 ไร่ จากความร่วมมือกับกรมป่าไม้ ภาคเอกชนผู้สนับสนุนงบประมาณ 14 องค์กร และชุมชน 77 แห่ง เราหวังว่าความสำเร็จก้าวแรกนี้จะนำไปสู่การขยายผลก้าวต่อไปให้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในปี 2567 ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีแผนจะขยายผลอีก 150,000 ไร่ และมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดๆ ไปนั้น ความร่วมมือกับไทยคมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถประเมินมวลชีวภาพในป่าได้อย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การประเมินคาร์บอนเครดิตที่รวดเร็วและแม่นยำขึ้นจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอีโคซิสเท็มของการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ของประเทศไทย และจะช่วยให้การร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เกิดขึ้นได้จริงอย่างรวดเร็วขึ้น มีความชัดเจนขึ้น และสามารถตรวจสอบได้
ขณะนี้ ทางไทยคมได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มาผสานกับฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ แล้ว ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทคโนโลยีได้รับการยอมรับจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะได้นำเทคโนโลยีนี้ไปสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและดูแลป่า รวมถึงขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายใน พ.ศ. 2608 ด้วย.