• Future Perfect
  • Articles
  • สรุปประชุม COP28 ไทยย้ำจุดยืน ทุกคนต้องร่วมลงมือทำ

สรุปประชุม COP28 ไทยย้ำจุดยืน ทุกคนต้องร่วมลงมือทำ

Sustainability

ความยั่งยืน14 ธ.ค. 2566 12:17 น.
  • สรุปประชุม COP28 การบรรลุข้อตกลง "เปลี่ยนผ่าน" การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงกว่านี้
  • ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลง ย้ำจุดยืนของไทย พร้อมเรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลงมือแก้ไข 

ในการประชุม COP28 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2566 ที่รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ องค์กรอิสระ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิก 197 ประเทศ เข้าร่วม

ทั้งนี้ในที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลง "เปลี่ยนผ่าน" การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงกว่านี้ และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรม เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากทั่วโลก มีความเห็นว่าการที่ ที่ประชุม COP28 บรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ทุกประเทศมุ่งไปสู่การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่กว่าที่สมาชิกทุกประเทศของที่ประชุม COP28 จะบรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีการแก้ไขภาษาที่ใช้ในร่างข้อตกลงหลายครั้ง เนื่องจากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน สนับสนุนให้ใช้ถ้อยคำที่หนักแน่นว่า "ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล"

ถ้อยแถลงไทย บนเวที COP28

ในส่วนของประเทศไทยเอง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง ในช่วงการประชุมระดับสูง (High-level Segment) ตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทย พร้อมเรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลงมือแก้ไข 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวย้ำว่า คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น และประเทศไทยยืนยันว่าได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้คำมั่นไว้ โดยประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ค.ศ. 2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ภายในปี ค.ศ. 2025 และจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน

และรัฐบาลไทย ยังได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว โดยมีกลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ 

ทั้งยังได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวอีกด้วย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ โดยมองว่าการระดมเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในปี 2025 จะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายของประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคี ยินดีที่จะได้เห็นความชัดเจนของกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหาย ใน COP28 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประเมินสถานการณ์การดำเนินงานระดับโลก จะสะท้อนให้เห็นเส้นทางสู่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส

ศึกษาการจัดการน้ำในเขตเมือง

นอกจากนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ยังได้หารือร่วมกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นำโดย H.E. Mr. Mark Harbers รัฐมนตรีว่าการกระทรวง Infrastructure and Water Management ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อปรึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในเขตเมือง

ซึ่งผู้แทนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ยังได้เชิญชวนให้ประเทศไทยเข้าร่วมรับรองบันทึกความตกลงระดับโลก เรื่องการหยุดปล่อยคาร์บอนจากรถบรรทุกขนาดกลาง และขนาดใหญ่ (Global Memorandum of Understanding on Zero-Emission Medium and Heavy-Duty Vehicles) ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มการใช้รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ให้ได้ร้อยละ 100 ภายในปี ค.ศ. 2040 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส 

สำหรับการหารือร่วมกับคณะผู้แทนสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งนำโดย H.E. Federal Councillor Albert Rosti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม การขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร ได้มีการติดตามความก้าวหน้าโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการโดยภาคเอกชนไทย และอยู่ภายใต้ข้อตกลงของทั้ง 2 ประเทศ ที่ได้มีการลงนามร่วมกันไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดยจะเป็นการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างกัน และภาคเอกชนไทยจะได้รับเงินสนับสนุนเป็นการตอบแทน

ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าโครงการดำเนินงานไปได้ด้วยดีและเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ในอนาคตจะได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการขยายโครงการเพื่อเพิ่มปริมาณรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นต่อไป

SHARE

Follow us

  • |