• Future Perfect
  • Articles
  • เลือกแบบไหนดี เทียบ "หน้ากากอนามัย" สวมป้องกันฝุ่น PM 2.5 และ โควิด-19

เลือกแบบไหนดี เทียบ "หน้ากากอนามัย" สวมป้องกันฝุ่น PM 2.5 และ โควิด-19

Sustainability

ความยั่งยืน12 ธ.ค. 2566 15:48 น.

เทียบประสิทธิภาพ "หน้ากากอนามัย" หลากหลายประเภท แบบไหนสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 และ โควิด-19 

ประเทศไทยเผชิญหน้ากับฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 มีแนวโน้มรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ทำให้สภาพอากาศแห้งแล้งเกิดไฟป่าและค่าฝุ่นพิษมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งขณะนี้จะพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็เริ่มมีรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในระดับเริ่มกระทบสุขภาพหลายพื้นที่

ขณะเดียวกัน มีข้อมูลจาก นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เปิดเผยข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธในการติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 545 ราย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กลับมาแซงหน้าไข้หวัดใหญ่ 

จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า "หน้ากากอนามัย" ยังเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากในการป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 แต่หน้ากากอนามัยก็มีหลายประเภท ดังนั้นเราจึงต้องเลือกให้เหมาะสมและถูกต้อง ดังนี้ 

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 

: ป้องกันโควิด-19 แต่ไม่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM 2.5

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical Mask หรือ Surgical Mask) ถือเป็นหน้ากากอนามัยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 สามารถป้องกันละอองฝอยได้ และสามารถใช้ในทางการแพทย์ในห้องผ่าตัด ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้

สำหรับวิธีใช้จะนำด้านที่มีสีเข้มไว้ด้านหน้า เพื่อป้องกันละอองฝอยจากภายนอกเข้าสู่ภายใน สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 แต่ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 

หน้ากากอนามัยแบบผ้า

: ป้องกันโควิด-19 แต่ไม่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM 2.5

หน้ากากผ้า เป็นหน้ากากอนามัยที่เย็บขึ้นมาคล้ายกับหน้ากากอนามัยทั่วไป สามารถนำไปซักแล้วใช้ซ้ำได้ สามารถป้องกันฝุ่นละออง น้ำมูก น้ำลาย จากการไอหรือจามได้ แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ อย่างฝุ่น PM 2.5 ได้

จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สรุปผลศึกษาชนิดของผ้าที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้ทำหน้ากากอนามัย คือผ้าฝ้ายมัสลิน เพราะมีประสิทธิภาพดีหลายด้าน คือ สามารถกันละอองน้ำ และเส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น และที่สำคัญสามารถนำมาใช้งานได้หลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีผ้าชนิดอื่นๆ เช่น ผ้าฝ้ายดิบ ผ้านาโน ผ้าสาคู ผ้ายืด 

หน้ากากอนามัย ชนิด N95 

: ป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5

หน้ากาก N95 ถือเป็นหน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูง หากสวมใส่อย่างถูกต้อง ผลิตจากโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) มีลักษณะครอบลงไปที่บริเวณหน้าปากและจมูกอย่างมิดชิด สามารถกรองฝุ่นละอองและละอองเชื้อไวรัสขนาด 0.1-0.3 ไมครอนได้ ซึ่งละอองเชื้อโควิด-19 มีขนาดตั้งแต่ 0.2 ไมครอนขึ้นไป 

ดังนั้น หากสวมใส่หน้ากาก N95 ได้ถูกต้องจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 แต่หากใส่เป็นเวลานานจะทำให้หายใจลำบาก จึงอาจไม่เหมาะกับการใส่ในชีวิตประจำวัน

หน้ากากอนามัยแบบคาร์บอน 

: ป้องกันโควิด-19 แต่ไม่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM 2.5

หน้ากากคาร์บอน เป็นหน้ากากที่มีคุณสมบัติไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่มีความพิเศษมากขึ้นจากการที่มีชั้นคาร์บอน ช่วยกรองกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ กรองเชื้อแบคทีเรีย และกรองฝุ่นละออง ขนาด 3 ไมครอนได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 

หน้ากากฟองน้ำ 

: ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 และ ฝุ่น PM 2.5

หน้ากากฟองน้ำ ผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอน สำหรับกรองอากาศทั่วไป มีข้อดีคือสามารถซักทำความสะอาดได้ แห้งเร็ว พับแล้วไม่ยับ สามารถป้องกันควันรถ เกสรดอกไม้ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 และ เชื้อโควิด-19 

หน้ากาก KF94 และ KF80 

: ป้องกันโควิด-19 และ ฝุ่น PM 2.5

เป็นหน้ากากอนามัยสัญชาติเกาหลี โดย KF ย่อมาจาก Korea Filter มีอยู่ 2 แบบคือ KF94 และ KF80 สามารถกันฝุ่นขนาดมากกว่า 3 ไมครอนได้ 100% รวมถึงฝุ่นที่เล็กกว่า เช่น PM 2.5 ที่มีขนาด 0.3 ไมครอน สามารถป้องกันได้ 94% ในรุ่น KF94 และ KF80 สามารถกันได้ 80% และป้องกันโควิด-19 หรือเชื้อโรคติดต่ออื่นๆ สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอน หากอยู่ในห้องที่แออัดที่อากาศไม่ถ่ายเทดีพอ อาจมีเชื้อโรคอยู่มาก เปอร์เซ็นต์การป้องกันอาจลดลงที่ 94% โดยต้องใส่ให้มิดชิด ไม่มีรูรั่วที่หน้ากาก

หน้ากาก FFP1- FFP2

: ป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5

เป็นหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพคล้ายกันกับ N95 มีวาล์วกรองอากาศ สามารถช่วยป้องกันทั้งฝุ่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้ มีความสามารถเช่นเดียวกันกับ N95 ที่จับอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ได้ไม่น้อยกว่า 94% มีลักษณะครอบจมูกอย่างมิดชิด ทำให้เชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสก็ไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ ข้อเสีย คือ เวลาไอ หรือจาม ละอองน้ำลายสามารถเล็ดลอดผ่านวาล์วกรองอากาศออกมาได้เช่นกัน

SHARE

Follow us

  • |