รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกๆปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันสิ่งแวดล้อมไทย" เพื่อให้หลายๆคน ได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ หรือ "วัน ทสม. แห่งชาติ" อีกด้วย หากอยากรู้ว่าวันสำคัญดังกล่าว มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทางไทยรัฐออนไลน์ก็จะพาทุกคน ไปทำความรู้จักพร้อมๆกัน
ประวัติ และที่มา "วันสิ่งแวดล้อมไทย" ในวันที่ 4 ธันวาคม
วันสิ่งแวดล้อมไทยนั้น มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ที่มอบแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำ สรุปได้ว่า
"...สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทย เท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย..."
ต่อมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิต ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป
ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา 4 ธันวาคมของทุกปี จึงเป็น "วันสิ่งแวดล้อมไทย" เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และเป็นวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ หรือ วัน ทสม. แห่งชาติ
แนวคิด "วันสิ่งแวดล้อมไทย" ประจำปี 2566
สำหรับในปี 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดจัดงาน วันสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้กรอบแนวคิด "เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก ลดโลกเดือด" ดังนี้
- เปลี่ยนเรา : เริ่มต้นจาก "ตัวเราเอง" ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมกันสื่อสารให้คนรอบๆตัวเรา ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปลูกจิตสำนึกการลดภาวะโลกร้อนจากรุ่นสู่รุ่น ร่วมมือกันลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (mitigation) และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)
- เปลี่ยนโลก : ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีภารกิจร่วมกันในการลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศไทยมีเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality )ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 เพื่อลดผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- ลดโลกเดือด : ปัจจุบันทุกภาคส่วนทั่วโลกกำลังระดมสมอง การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อช่วยลดโลกเดือด ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน อีกไม่กี่วันข้างหน้าเรากำลังจะได้เห็นประวัติศาสตร์บทใหม่ ในการต่อสู้ลดโลกเดือดบนเวที COP28 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เริ่มที่ตัวเรา แนะนำวิธีง่ายๆ ในการอนุรักษ์ "สิ่งแวดล้อม"
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยรักษาโลกของเรา ซึ่งเราก็สามารถมีส่วนร่วมได้ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
- ลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล : ลดการใช้สิ่งของ หรือบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว ให้เปลี่ยนเป็นวัสดุที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ เช่น กระดาษ พลาสติก และแก้ว
- ช่วยกันประหยัดพลังงาน : ใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ปิดไฟและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อไม่ได้ใช้งาน หรือหากเป็นไปได้ ควรเลือกใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
- ประหยัดน้ำเมื่อไม่ใช้ : แก้ไขน้ำรั่ว หรือใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ เช่น ฝักบัวและก๊อกน้ำน้ำไหลต่ำ และควรหลีกเลี่ยงการสิ้นเปลืองน้ำโดยไม่จำเป็น อย่างเช่นการเปิดน้ำทิ้งไว้
- ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว : ต้นไม้มีความสำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยปรับคุณภาพอากาศ ดังนั้นการเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ หรือสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างและรักษาพื้นที่สีเขียว ภ็ถือเป็นอีกช่องทางในการช่วยโลกได้
- ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย : เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดมลพิษทางเคมีในสิ่งแวดล้อม
- สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน : เลือกผลิตภัณฑ์และบริการจากบริษัท ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการอนุรักษ์
- ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ : แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกับผู้อื่น ร่วมถึงมีส่วนร่วมในการอภิปราย และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนระหว่างครอบครัว เพื่อน และชุมชนของคุณ
โปรดจำไว้เสมอว่า เพียงแค่สองมือเล็กของเรา ก็สามารถสร้างโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และน่าอยู่ขึ้นได้ เพราะเมื่อทุกคนร่วมใจกัน จากการเริ่มกระทำเล็กๆ น้อยๆ ก็สร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ เพื่อปรับเปลี่ยนโลกได้เสมอ.
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม