“คามิคัตสึ” เมืองขยะเป็นศูนย์

Sustainability

ความยั่งยืน5 ธ.ค. 2566 06:40 น.

คามิคัตสึ (Kamikatsu) เมืองในจังหวัดโทคุชิมะ บนเกาะ ชิโกกุทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเมืองปลอดขยะที่มีกระบวนการจัดการขยะโดดเด่น จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆของโลก ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 109.63 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ป่าไม้ 88% และ 80% เป็นป่าปลูก) สูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร

ย้อนหลังไปในปี 2498 คามิคัตสึมีจำนวนประชากรอยู่ที่ราว 6,000 คน ปัจจุบันลดเหลือ 1,401 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 1 ต.ค.2566) เฉลี่ยลดลง 40 คนต่อปี จากการเสียชีวิตและย้ายถิ่นฐาน มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (วัย 65 ปีขึ้นไป) จำนวนเกินครึ่งที่ 52.25%

ก่อนหน้านี้ คามิคัตสึประสบปัญหาการจัดการขยะเหมือนชุมชนทั่วไป แรกเริ่มมีการขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อใช้ทิ้งขยะ แต่มีการปนเปื้อน ไม่ถูกสุขลักษณะ และเป็นอันตรายต่อชุมชน ต่อมาจึงมีการสร้างเตาเผาเพื่อใช้กำจัดขยะ รวมทั้งได้เริ่มรณรงค์ให้คนในพื้นที่คัดแยกขยะ โดยในปี 2540 มีการคัดแยกทั้งสิ้น 9 ประเภทด้วยกัน ในช่วงปี 2544 เตาเผาขยะทั้งหมดในเมืองถูกสั่งปิด จากข้อกังวลของรัฐบาลต่อปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ทำให้แนวทางกำจัดขยะทวีความเข้มข้นมากขึ้น มีการดำริให้มี การคัดแยกขยะเพิ่มเป็น 33 หมวดหมู่ หลังจากนั้นไม่นานได้เพิ่มเป็น 35 หมวดหมู่ จนในปี 2546 เมืองคามิคัตสึได้ออกปฏิญญาขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) กำหนดเป้าหมายทำให้สำเร็จในปี 2563 โดยระหว่างทาง ได้ทยอยเปิดตัวโครง การเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวองค์กรไม่แสวงหากำไร (NPO) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ชื่อ Zero Waste Academy, การเปิดศูนย์ส่งเสริมการซื้อสินค้าใช้ซ้ำ Kurukuru Shop, การเปิดร้านรีเมก Kurukuru Kobo แหล่งรวบรวมสินค้ารีไซเคิล, การให้เช่าอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ใช้แล้วนำไปใช้ซ้ำ

จนในปี 2559 เมืองคามิคัตสึสามารถจัดหมวดหมู่การคัดแยกขยะอย่างเป็นทางการเป็น 13 ประเภท และ 45 หมวดหมู่ ทำยอดรีไซเคิลขยะได้สูงกว่า 80% เป็นครั้งแรก เริ่มรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกในปี 2561 และก่อสร้างศูนย์ Kamikatsu-cho Zero Waste Center ในปี 2563

ความสำเร็จของคามิคัตสึในการสร้างเมืองปลอดขยะ น่าจะมาจากการนิยามคำว่า Zero Waste หรือ “ขยะเป็นศูนย์” ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในมุมของการกำจัดขยะเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวิธีคิดที่จะไม่สร้างขยะแบบองค์รวม ตั้งแต่ผู้ผลิตที่ต้องไม่คิดเพิ่มขยะ ผู้ขายที่ต้องไม่คิดเพิ่มขยะ ไปจนถึงลูกค้าที่ต้องจัดการขยะอย่างมีวินัย

คามิคัตสึไม่มีรถขยะ จึงเป็นหน้าที่ของประชากรในเมืองที่ต้องนำขยะมาทิ้งที่ศูนย์รับ หรือ Waste Collection Center โดยจะต้องแยกขยะและทำความสะอาดอย่างครบครัน ยกตัวอย่างกรณีขวดน้ำดื่ม ต้องแยกฝาปิดออก ฉีกฉลากพลาสติก ล้างทำความสะอาดขวดและผึ่งให้แห้ง ก่อนนำมายังศูนย์

ส่วนขยะเปียกที่เป็นเศษอาหารนั้น ครัวเรือนต้องนำเข้าเครื่องย่อยสลายขยะเพื่อทำเป็นปุ๋ย ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนราคาขายเหลือเครื่องละ 10,000 เยน (ประมาณ 2,400 บาท) จากปกติขาย อยู่ที่เครื่องละ 50,000 เยน (ประมาณ 12,000 บาท)

สำหรับประชากรที่อยู่บนเขาในพื้นที่ห่างไกล ภาครัฐมีรถจัดการเข้าไปเก็บถึงหน้าบ้านก็จริง แต่มีค่าใช้จ่าย โดยจะเข้าไปเก็บ 2 เดือนครั้งเพื่อนำขยะเข้ามายังศูนย์ Waste Collection Center ซึ่งปัจจุบันแยกขยะลงรายละเอียดทั้งสิ้น 45 หมวดหมู่ ครอบคลุมเจลให้ความเย็น ซองดูดความชื้น โทรศัพท์มือถือเก่า ถาดพลาสติก ถุงขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

ความสำเร็จในการจัดการขยะของคามิคัตสึ ดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้าไปเยี่ยมเยือน จนต้องมีการตั้งบริษัท Pangaeg (พังเกีย) ขึ้นมารองรับการศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะเป็นการเฉพาะ

นายซาโตชิ โนโนยามะ ซีอีโอ พังเกีย กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองคามิคัตสึสามารถรีไซเคิลขยะได้ 81% ที่เหลือ 19% เป็นขยะที่รีไซเคิลไม่ได้หรือไม่คุ้ม เช่น รองเท้า เพราะแยกส่วนยาก รวมทั้งขยะอันตราย เช่น ผ้าอ้อม ทิชชู หน้ากากอนามัย ต้องนำออกไปยังพื้นที่เพื่อเผาทำลาย ซึ่งมีค่าใช้จ่าย

ปัจจุบัน Waste Collection Center ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศบาลเมืองมีรายได้จากการขายขยะระหว่างปีละ 880,000-2,000,000 เยน ขึ้นอยู่กับราคาขยะ แต่มีรายจ่ายราวปีละ 6 ล้านเยน เพราะการรีไซเคิลขยะบางชนิดมีต้นทุนสูง

ในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องขยะเป็นศูนย์ เมืองคามิคัตสึได้ประกาศนโยบายขยะเป็นศูนย์อีกครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่ “กำจัดขยะ” แต่เป็นการ “ไม่สร้างขยะ” ด้วยความรับผิดชอบของทุกคนและส่งเสริมผู้อื่นให้ร่วมมือ มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มเปอร์เซ็นต์คนที่มีความคิดเดียวกันในสังคม ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายในปี 2573.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม

SHARE

Follow us

  • |