• Future Perfect
  • Articles
  • "กรมทะเลชายฝั่ง" สำรวจสัตว์ทะเลหายาก พบ "วาฬ-เต่าทะเล" ชุกชุม สุขภาพดี

"กรมทะเลชายฝั่ง" สำรวจสัตว์ทะเลหายาก พบ "วาฬ-เต่าทะเล" ชุกชุม สุขภาพดี

Sustainability

ความยั่งยืน1 ธ.ค. 2566 14:35 น.

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจติดตาม "สัตว์ทะเลหายาก" ในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน พบ "วาฬ-เต่าทะเล" ชุกชุม สุขภาพดี

วันที่ 1 ธ.ค. 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทุกพื้นที่ ดำเนินการสำรวจติดตามสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน จากการสำรวจโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ ของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) บริเวณหาดทุ่งคา ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง อ่าวเพ-หาดสวนสน ตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และอ่าวคุ้งกระเบน ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รวมพื้นที่สำรวจ 1,414 ไร่ 

ทั้งนี้ พบสัตว์ทะเลหายาก 2 ชนิด เฉพาะบริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวเพ จังหวัดระยอง พบ พะยูน จำนวน 2 ตัว วัดขนาดความยาวตัวจากการคำนวณด้วยภาพจากโดรน พบว่าพะยูนทั้ง 2 ตัว มีความยาว 2.4 เมตร จากการประเมินสุขภาพภายนอก พบว่าพะยูนสภาพร่างกายปกติ มีพฤติกรรมหาอาหาร ว่ายน้ำได้ดี และเต่าตนุ จำนวน 9 ตัว วัดขนาดความยาวของตัวจากการคำนวณด้วยภาพจากโดรน พบว่ามีความยาวอยู่ระหว่าง 46-86 เซนติเมตร จากการประเมินสุขภาพภายนอก พบว่าเต่าทะเลสามารถว่ายน้ำ ดำน้ำ และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ซึ่งพฤติกรรมที่พบเป็นการเข้ามาหากินในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล

ทางด้านของ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสำรวจสัตว์ทะเลหายากโดยใช้อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง ทำการสำรวจบริเวณแนวหญ้าทะเลทางทิศตะวันออกของเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมพื้นที่สำรวจ 24,687.5 ไร่ ผลการสำรวจพบสัตว์ทะเลหายาก 2 ชนิด ได้แก่ พะยูน จำนวน 11 ตัว และเต่าตนุ จำนวน 222 ตัว โดยพฤติกรรมของสัตว์ทั้งสองชนิดที่พบเป็นการเข้ามาหากินในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลดังกล่าว ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้ จะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง 

ในส่วนของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร พบวาฬบรูด้า จำนวน 9 ตัว สามารถระบุชื่อได้ จำนวน 6 ตัว ได้แก่ แม่สาครกับเจ้าสาลี แม่กันยากับเจ้ามะลิ เจ้ามีทรัพย์ เจ้าสิงหา และไม่ทราบชื่อ จำนวน 3 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาครและเพชรบุรี ระยะห่างจากฝั่ง 10-15 กิโลเมตร

ทั้งนี้ สัตวแพทย์ทำการตรวจสุขภาพวาฬบรูด้าที่สำรวจพบ พบมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกาย อยู่ในเกณฑ์ดี และพบรอยโรค บนผิวหนังวาฬบรูด้าจำนวน 2 ตัวได้แก่ เจ้ามีทรัพย์ และแม่สาคร พบบาดแผลบริเวณด้านหน้าครีบหลังของเจ้าสาลี และรอยถูกพันรัดที่ครีบหลังของวาฬไม่ทราบชื่อ จำนวน 1 ตัว ซึ่งสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพสัตว์ทะเลหายากต่อไป.

SHARE

Follow us

  • |