- "ยา" นอกจากจะรักษาโรคแล้ว หากทิ้ง หรือนำไปกำจัดอย่างผิดวิธี อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้
- วิธีการทิ้งขยะอันตราย อย่าง "ยา" ที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ นอกจากจะห้ามทิ้งลงชักโครกแล้ว การทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน
ขยะอันตราย ไม่ได้มีแค่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระป๋องสเปรย์ หรือถังสารเคมีเท่านั้น แต่ "ยา" ที่หลายคนรับประทานอยู่ ก็จัดเป็นขยะอันตราย ต้องทิ้งให้ถูกวิธี ไม่อย่างนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ยาเม็ดนิดเดียว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ยาที่เรากินเพื่อรักษาโรค หรือบรรเทาอาการต่างๆ หรือแม้กระทั่งยาทาภายนอก จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ก็เพราะใน "ยา" แต่ละตัวนั้น จะประกอบด้วยสารต่างๆ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แม้ว่ายาจะหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ แต่หากทิ้งไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมได้
ทั้งนี้ ข้อมูลของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการตกค้างของยาในสิ่งแวดล้อมนั้น พบว่า ยาที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม โดเฉพาะแหล่งน้ำ คือ ยาประเภท ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาลดความดัน ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคมะเร็ง และฮอร์โมน เป็นต้น
ซึ่งยาดังกล่าวเหล่านี้ หากปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำ อาจส่งผลให้แบคทีเรียในน้ำและดิน มีภูมิต้านทาน และทนต่อฤทธิ์ยา จนเกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยาในสัตว์น้ำบางประเภท และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม จำนวนของสิ่งมีชีวิตลดลง จากยาที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า การทิ้งยาไม่ถูกที่ อาจทำให้เกิดการสะสมยาในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่เราสามารถบริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ ได้
วิธีสังเกตยาหมดอายุ
อย่างที่ทราบ ยาแต่ละชนิดมีวันหมดอายุ ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากบรรจุภัณฑ์ หรือหากเป็นยาที่จ่ายโดยสถานพยาบาลในถุงซิปล็อก ก็จะมีการเขียนกำกับไว้ว่า หมดอายุเมื่อใด
ยาหมดอายุ เสื่อมสภาพ ทิ้งอย่างไร
ก่อนหน้านี้มีการรณรงค์ว่า อย่าทิ้งยาลงชักโครก ทำให้หลายคนเข้าใจว่า นอกเหนือจากชักโครกแล้ว เราจะทิ้งยาที่ไหนก็ได้
แต่ช้าก่อน... เพราะยาที่เสื่อมสภาพ และหมดอายุแล้วนั้น สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- หากขวดหรือซองยา มีชื่อของผู้ป่วย หรือข้อมูลของผู้ป่วยอยู่ ควรลอกสลากออกก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
- นำยาหมดอายุ หรือ ยาที่เสื่อมสภาพ ใส่ภาชนะ หรือถุง ปิดมิดชิด เขียนกำกับว่า "ยาหมดอายุ" และนำไปทิ้งในถังขยะอันตรายตามจุดต่างๆ
- หากไม่แน่ใจในเรื่องของจุดทิ้งยา สามารถรวบรวมแล้วส่งไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือมอบให้ อสม. รวบรวมส่งให้ รพ.สต. หรือศูนย์สุขภาพในพื้นที่ เพื่อนำไปกำจัดพร้อมขยะติดเชื้อ หรือขยะอันตรายของโรงพยาบาล ที่จะใช้เตาเผาอุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ในการจัดการขยะ