• Future Perfect
  • Articles
  • รู้ไว้ก่อนลอย "กระทง" แต่ละชนิด ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร

รู้ไว้ก่อนลอย "กระทง" แต่ละชนิด ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร

Sustainability

ความยั่งยืน27 พ.ย. 2566 16:45 น.
  • เปิดสถิติปริมาณการเก็บ "กระทง" ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงปี 2560-2565 ปีไหนมีปริมาณมากที่สุด
  • ไขข้อสงสัย "กระทง" แต่ละชนิด ปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศมากเท่าไร
  • "ลอยกระทงออนไลน์" ทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับสืบสานประเพณี พร้อมชวนชาวกรุง เปิดประสบการณ์ "ลอยกระทงดิจิทัล" ที่คลองโอ่งอ่าง

และแล้วก็ถึงเทศกาลที่หลายคนต่างตั้งตารอคอย สำหรับ "วันลอยกระทง" ประเพณีอันเก่าแก่ของสังคมไทย ที่จัดขึ้นตามความศรัทธา และวัตถุประสงค์ที่ต่างกันของคนในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ต่างเชื่อกันว่า ลอยกระทงเพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำชำระร่างกาย ดื่มกิน

รวมไปถึงทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ และกิจกรรมที่ทำลายแหล่งน้ำ อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า การลอยกระทงคือการปล่อยความทุกข์ ความโศกเศร้าต่างๆ ให้ลอยหายไปกับแม่น้ำ

แต่รู้หรือไม่ว่าการลอยกระทงในแต่ละปีนั้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่บรรยากาศมากขนาดไหน อีกทั้งปริมาณกระทงและขยะที่เกิดขึ้นในระหว่างกิจกรรมนั้น สร้างขยะและมลพิษต่อแหล่งน้ำและทะเลมากมายเท่าไรกันบ้าง

เปิดสถิติปริมาณ "กระทง" ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

กรุงเทพมหานคร ได้เผยสถิติการจัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอย ซึ่งมีทั้งกระทงธรรมชาติและกระทงโฟม ในระหว่างปี 2560-2565 ดังนี้ 

  • ปี 2560 มีกระทงรวมทั้งหมด 811,945 จากวัสดุธรรมชาติ 760.019 คิดเป็น 93.6% จากกระทงโฟม 51,926 คิดเป็น 6.4%
  • ปี 2561 มีกระทงรวมทั้งหมด 841,327 จากวัสดุธรรมชาติ 769,444 คิดเป็น 94.7% กระทงโฟม 44,883 คิดเป็น 5.3%
  • ปี 2562 มีกระทงรวมทั้งหมด 502,024 จากวัสดุธรรมชาติ 483,264 คิดเป็น 96.3% กระทงโฟม 18.760 คิดเป็น 3.7%
  • ปี 2563 มีกระทงรวมทั้งหมด 492,537 จากวัสดุธรรมชาติ 474,806 คิดเป็น 96.4% กระทงโฟม 17.731 คิดเป็น 3.6%
  • ปี 2564 มีกระทงรวมทั้งหมด 403,235 จากวัสดุธรรมชาติ 388,954 คิดเป็น 96.5% กระทงโฟม 14,281 คิดเป็น 3.5%
  • ปี 2565 มีกระทงรวมทั้งหมด 572,602 จากวัสดุธรรมชาติ 548,086 คิดเป็น 95.7% กระทงโฟม 24,516 คิดเป็น 4.3% 

จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2561-2564 ปริมาณกระทงนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและกระทงโฟม แต่พอมาถึงปี 2565 ปริมาณกระทงกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการช่วงโควิดในตอนนั้น ทำให้หลายๆ คนออกมาร่วมกิจกรรมลอยกระทงกันมากขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วยการระบาด

"กระทง" แต่ละชนิด ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในวันลอยกระทงนั้น ผู้คนต่างประดิษฐ์กระทงในรูปแบบต่างๆ จากวัสดุหลากหลายชนิด เช่น ต้นกล้วย ขนมปัง โฟม เป็นต้น

แต่รู้หรือไม่ว่าวัสดุที่กล่าวมานั้น ก็สามารถก่อให้เกิดการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ โดยทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก - องค์การมหาชน ได้ให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระทงแต่ละชนิด ดังต่อไปนี้ 

  • ต้นกล้วย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 170 gCO2e/kg (กรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อกิโลกรัมต้นกล้วย)
  • ขนมปัง ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 540 gCO2e/kg (กรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อกิโลกรัมขนมปัง)
  • โฟม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,260 gCO2e/kg (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อกิโลกรัมโฟม)

* ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แสดง เป็นการคิดเฉพาะวัสดุหลักที่ใช้ทำกระทงเท่านั้น

นักวิชาการชี้ กระทงที่ทำจาก "ใบตองกาบกล้วย ขนมปัง อาหารปลา" ล้วนทำลายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลไว้อีกว่า กระทงจากวัสดุธรรมชาติต่างๆ นั้น ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าไม่ได้เก็บขึ้นมาให้หมดหลังลอยแล้ว ก็จะกลายเป็น "ขยะกระทง" ตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำคลอง แม่น้ำ จนถึงทะเลอยู่ดี

แถมกระทงขนมปัง ถ้าปลากินไม่หมด ก็ยิ่งจะกลายเป็นมลพิษ ทำให้น้ำเน่าเสียได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก สำหรับคนที่คิดว่า "กระทงขนมปัง" ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะแท้จริงแล้ว กระทงขนมปัง กลับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำ ไม่น้อยไปกว่ากระทงในรูปแบบอื่นๆ เลย ซึ่งมีปัญหามากพออยู่แล้ว กับเรื่องการจัดเก็บกระทงหลังลอยเสร็จ

"ลอยกระทงออนไลน์" ทางเลือกสำหรับสืบสานประเพณี และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

จากปัจจัยเรื่องกระทงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้หลายๆ คนเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วเราควรจะทำอย่างไร เพื่อที่จะได้สืบสานประเพณี โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าในช่วงเวลานี้ คงไม่มีอะไรที่ตอบโจทย์ไปมากกว่า "การลอยกระทงออนไลน์" เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ ดังนี้

  • เป็นการสืบสานประเพณีไทย

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การลอยกระทงนั้นเป็นประเพณีไทย ที่สืบทอดกันมายาวนาน การลอยกระทงออนไลน์ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปตามสถานที่จัดงาน สามารถลอยกระทงและสืบสานประเพณีไทยต่อไปได้

  • ลดขยะในแม่น้ำลำคลอง

นอกจากรักษาขั้นตอนเดิมของประเพณีลอยกระทงแล้ว ยังถือเป็นทางออกที่สำคัญในการลดขยะ กระทงที่จะปล่อยลงแม่น้ำ และลดการย่อยสลายวัสดุที่ประกอบเป็นกระทง

  • ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อน คนรัก และครอบครัว

นอกจากนี้ การลอยกระทงออนไลน์ ยังถือว่าเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีได้ ทั้งครอบครัว คนรัก และเพื่อนๆ เนื่องจากบางเว็บ จะเปิดโอกาสให้ส่งข้อความอวยพรเป็นภาพ และข้อความเชิญชวนกันมาลอยกระทงออนไลน์ด้วยกัน

ชวนชาวกรุง เปิดประสบการณ์ใหม่ "ลอยกระทงดิจิทัล" ที่คลองโอ่งอ่าง

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะไปลอยกระทงที่ไหน วันนี้เราก็มีทางเลือกใหม่สำหรับคนสนใจลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จัดขึ้นในรูปแบบของการลอยกระทงดิจิทัลผ่าน "Projection Mapping" ที่คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.

โดยทุกคนนั้นสามารถระบายสีให้กับกระทงดิจิทัลของตัวเอง ลงบนรูปกระทงที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งเขียนชื่อ เขียนคำขอพร แล้วสแกนภาพฉายเป็นแสงไฟ เพื่อลอยลงไปยังคลองโอ่งอ่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมในรูปแบบใหม่ที่ดีกับโลกมากกว่าเดิม

สามารถลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ได้ 3 วิธี ดังนี้

  1. เดินทางมาที่งาน ณ คลองโอ่งอ่าง และเลือกกระทงผ่านกระดาษ ก่อนระบายสี ใส่ข้อความ
  2. เดินทางมาที่งาน ณ คลองโอ่งอ่าง และเลือกกระทงผ่านแท็บเล็ต ก่อนระบายสี ใส่ข้อความ
  3. Download และ print รูปแบบกระทงจากที่บ้าน พร้อมใส่ข้อความระบายสี ก่อนนำมาส่งให้ที่หน้างาน โดยสแกน QR Code หรือ (คลิกที่นี่)

ขอบคุณข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก - องค์การมหาชน กรุงเทพมหานคร, รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

SHARE
04:18

น้ำลดโคลนผุด! บ้านจมกองโคลน สูงท่วมหัวเกือบถึงเพดานบ้าน

Follow us

  • |