"กรมทะเลชายฝั่ง" ชวนประชาชนใช้วัสดุจากธรรมชาติ "ลอยกระทง" งดใช้โฟม หันมาทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณขยะบกก่อนไหลลงสู่ทะเล
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทง ถือเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณค่าของแม่น้ำและขอขมาต่อพระแม่คงคา เราจึงต้องร่วมกันรักษาประเพณีนี้ไว้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปีพบว่าภายหลังจากวันลอยกระทง จะพบขยะกระทงตกค้างตามแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก
จากการสำรวจสถิติของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่เก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2565 พบจำนวนขยะที่เกิดจากกระทงทั้งสิ้น 572,602 ใบ หากขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล ทำให้เกิดเป็นขยะสะสมลอยอยู่ในทะเล หรือจมดิ่งลงสู่ใต้มหาสมุทร ซึ่งยากต่อการจัดการและเกิดเป็นขยะตกค้างอันนำไปสู่ชนวนก่อให้เกิดปัญหาขยะทะเล ที่จะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทั้งสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ ปะการัง และหญ้าทะเล
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ได้ตระหนักถึงขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากเทศกาลลอยกระทง โดยสถิติจากการจัดเก็บขยะของกรม ทช. ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างได้ 101,703 ชิ้น น้ำหนักรวม 1,8952 กิโลกรัม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือขยะที่เกิดจากการลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิด ทำให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ท้องทะเล สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ดังนั้น กรม ทช. จึงเดินหน้าสานต่อนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นย้ำให้ทุกคนใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใบตอง กาบกล้วย เป็นต้น ไม่ตกแต่งกระทงด้วยวัสดุที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหรือสัตว์ทะเล เช่น ลวดเย็บกระดาษ ตะปู กากเพชร เป็นต้น นอกจากนี้ อยากเชิญชวนให้ลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง ไปกับเพื่อนเป็นกลุ่มก็สามารถลอยร่วมกันได้ หรือจะลอยกระทงแบบออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยลดปริมาณขยะกระทงได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพ่อค้าแม่ค้าที่ทำกระทงจำหน่าย ขอให้งดใช้โฟม และหันมาทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับปฏิบัติตามแนวทางอย่างถูกวิธี เพื่อลดภาระในการจัดการให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งลำพังเจ้าหน้าที่กรม ทช. ที่มีอยู่ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่เพียงพอต่อการดูแลและจัดเก็บขยะที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วน
รวมถึงพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและจัดเก็บขยะที่ตกค้างอยู่ตามลำคลอง หน้าบ้าน ชายฝั่ง หรือในทะเล ตลอดจนห้ามลอยกระทงในทะเลเด็ดขาด เพราะหากขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลแล้ว อาจสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก เมื่อเขากินขยะเหล่านี้เข้าไป อาจทำให้เกยตื้นตายได้ ฉะนั้น เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อโลกและทรัพยากรของเรา ปราศจากขยะ สิ่งแวดล้อมสวยงาม.