จับมือแก้ "หมอกควันข้ามแดน" ไทย-ลาว ร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของสองประเทศ
วันที่ 22 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมหารือกับมาดามบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่ง สปป.ลาว และคณะ ณ ห้องประชุม ชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในการหารือ พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญกับเรื่องฝุ่น PM 2.5 และได้ให้นโยบายไว้ในคราวการเยือนประเทศลาวครั้งล่าสุด การดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของสองประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน (Joint Plan of Action) ของ 3 ประเทศ สปป.ลาว เมียนมา
ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) โดยประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูง การจัดทำแผนที่เสี่ยงไฟ การศึกษาเรียนรู้เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า
นอกจากนี้ ได้หารือการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่ง สปป.ลาว ที่ร่วมกันจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งที่ผ่านมา มีกิจกรรมสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาว แผนปฏิบัติการด้านการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม แผนปฏิบัติการด้านนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนการดำเนินงานความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ สปป.ลาว-ไทย
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการสนับสนุนทางวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนโยบายระหว่างไทย-สปป.ลาว ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายดำเนินงานและสนับสนุน สปป.ลาว เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์.