- ทำความรู้จัก "อาคารสีเขียว" คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
- เกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณา "อาคารสีเขียว" ของไทย และต่างประเทศมีหลักการอย่างไรบ้าง
- อะไรคือสิ่งที่ต้องคำนึง และพิจารณาในการก่อสร้างอาคารสีเขียว
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกของเรานั้นประสบกับปัญหาและมลภาวะต่างๆ อย่างมากมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จนไปไปสู่ "ภาวะโลกเดือด"
แน่นอนว่าเมื่อเราเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ทั่วโลกต่างต้องคิดวิธีที่จะช่วยลดปัญหา สร้างความยั่งยืนให้แก่โลก รวมถึงประดิษฐ์และออกแบบสิ่งใหม่ๆ ให้เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลพิษต่างๆ เพื่อตอบโจทย์กับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในแนวคิดที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันนั่นก็คือ "อาคารสีเขียว" หนึ่งในแนวคิดการออกแบบ ที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการก่อสร้างและกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ

อาคารสีเขียว คืออะไร
อาคารสีเขียว (Green building) คือ อาคารที่มีการออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินการ และบำรุงรักษาด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ จะสร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของตัวอาคาร
ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารด้วย โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ (built environment) ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน (human health) และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (natural environment)
โดยรวมแล้ว อาคารสีเขียวมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตหรือการทำงานที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ประสิทธิภาพของการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
- ปกป้องสุขภาพและส่งเสริมความสามารถในการทำงานของผู้คนในอาคาร
- ลดปัญหาขยะ มลพิษ และการทำลายสิ่งแวดล้อม

มาตรฐาน "อาคารสีเขียว" ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
เมื่อกล่าวถึงความหมายของอาคารสีเขียวไปแล้ว หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาคารไหนที่มีการออกแบบได้ตรงตามแนวคิด หรือมาตรฐานอาคารสีเขียว ดังนั้นจึงมีการกำหนดมาตรฐานอาคารสีเขียวขึ้นเพื่อประเมิน และให้การรับรองอาคารในด้านต่างๆ ทำให้ปัจจุบันมีมาตรฐานอาคารสีเขียวมากมาย
แต่มาตรฐานที่หลายคนคุ้นเคย และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก คือ LEED Rating System ที่เน้นการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม และมาตรฐาน WELL Building Standard ที่เน้นการออกแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
LEED Rating System
คำว่า LEED ย่อมาจาก Leadership in Energy & Environmental Design เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาโดย U.S. Green Building Council ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองอาคารที่ถือเป็นผู้นำด้านการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สุขอนามัยของผู้ใช้อาคาร ตลอดจนวงจรชีวิตของอาคาร ตั้งแต่การวางแผนและออกแบบ การก่อสร้าง และการใช้งานจริง โดยมีการรับรองคุณภาพ 4 ระดับ คือ Certified, Silver, Gold และ Platinum และเกณฑ์แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่
- LEED BD+C สำหรับอาคารที่ออกแบบก่อสร้างใหม่
- LEED ID+C สำหรับงานออกแบบและก่อสร้างภายในอาคาร
- LEED O+M สำหรับงานปรับปรุงอาคารเก่า
- LEED ND สำหรับงานพัฒนาย่านชุมชน
- LEED Homes สำหรับอาคารที่พักอาศัย
WELL Building Standard
เกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาโดย International WELL Building Institute (IWBI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองอาคารที่มีการออกแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้ใช้อาคารในด้านต่างๆ โดยใน WELL V2 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุดของมาตรฐาน WELL แบ่งสุขภาวะที่ดีออกเป็น 10 ด้าน ได้แก่ อากาศ น้ำ โภชนาการ แสงสว่าง การเคลื่อนไหว สภาวะน่าสบาย สภาวะทางเสียง วัสดุอาคาร จิตใจ และชุมชน มีการรับรองคุณภาพ 4 ระดับ ได้แก่ Bronze, Silver, Gold และ Platinum

เนื่องจากแต่ละพื้นที่บนโลกมีสภาพแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต และข้อจำกัดด้านการออกแบบก่อสร้างที่แตกต่างกัน ทำให้ในหลายประเทศทั่วโลกมีการจัดทำมาตรฐานอาคารสีเขียวของตัวเองขึ้น ให้เหมาะสมกับบริบทในที่นั้นๆ อย่างมาตรฐาน CASBEE ของญี่ปุ่นจะมีการให้คะแนนที่ต่างออกไปเรื่องความต่อเนื่องของพื้นที่สีเขียว หรือมาตรฐาน DGNB ของเยอรมนี ที่เน้นเรื่องค่าใช้จ่ายตลอดชีวิตของอาคาร (Life Cycle Costing) มากเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่าแต่ละที่จะให้ความสำคัญต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การประเมินอาคารประหยัดพลังงาน EDGE : Excellence in Design for Greater Efficiencies เป็นหลักการวัดผลการก่อสร้างอย่างยั่งยืน และนวัตกรรมในการรับรองมาตรฐานความเป็นเลิศในการออกแบบอาคาร สำหรับตลาดเกิดใหม่ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือ IFC (International Finance Corporation) ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก
โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจะคล้ายคลึงกับเกณฑ์ของ LEED แต่เพิ่มการประเมินปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย เนื่องจากมีแอปพลิเคชันในการประเมินด้วยตัวเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากผ่านการประเมินอาคารจาก EDGE Auditor เรียบร้อยแล้ว อาคารที่ผ่านการประเมินจะได้รับใบรับรองถาวร เช่นเดียวกับ LEED

มาตรฐาน "อาคารสีเขียว" ของประเทศไทย
มาตรฐานที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าอาคารสีเขียว กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับโลก และแต่ละประเทศก็มีการตั้งเกณฑ์เพื่อปรับใช้อย่างจริงจัง รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน มีการพัฒนาองค์ความรู้และจัดทำมาตรฐานอาคารสีเขียวของไทยขึ้นมาใช้เองด้วยเช่นกัน นั่นคือ "สถาบันอาคารเขียวไทย"
เป็นการรวมตัวของกลุ่มอาสาสมัคร ที่ประกอบด้วยสถาปนิกและวิศวกรจากสมาคมวิชาชีพสองแห่งคือ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานด้านอาคารเขียวของไทยขึ้น
โดยมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ และจัดทำมาตรฐาน รวมทั้งหลักเกณฑ์อาคารเขียวของไทยขึ้นมาใช้เอง เพื่อนำมาใช้แทนเกณฑ์อาคารเขียว ที่กำหนดมาจากประเทศมหาอำนาจ ลดความเสียเปรียบด้านการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ
และอีกเป้าหมายหนึ่ง คือต้องการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน และสังคมไทยเรื่องการออกแบบ ก่อสร้าง และพัฒนาอาคารเขียวแบบยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาคารเขียวที่ถูกต้องให้กับ สถาปนิก วิศวกร หน่วยงานรัฐบาล และประชาชนทั่วไป ในปัจจุบันทางสถาบันฯ จัดทำขึ้นมา 2 เกณฑ์ ดังนี้
1. TREES
TREES หรือ เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 เกณฑ์ ได้แก่
- TREES-NC สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ทั้งอาคารสร้างใหม่และอาคารปรับปรุงใหม่
- TREES-NC/CS สำหรับอาคารขนาดใหญ่ประเภทให้เช่า ประเมินเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางและกรอบอาคาร
- TREES-EB สำหรับอาคารที่ใช้งานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีและต้องการปรับเป็นอาคารเขียว
- TREES-PRE-NC สำหรับประเมินอาคารจากแบบก่อสร้าง เพื่อให้ได้รับโบนัส FAR จากข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ
- TREES-HOME สำหรับอาคารพักอาศัย ทั้งบ้าน ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุดพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร
2. SOOK
SOOK Standard หรือ มาตรฐานอาคารเป็นสุข ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของผู้ใช้อาคาร คล้ายๆ กับเกณฑ์ WELL Building Standard แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับไทย มีกลุ่มเป้าหมายหลักคืออาคารชุดและอาคารสำนักงาน แต่ก็สามารถนำไปปรับใช้กับบ้านพักอาศัยด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาถึง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ความสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบอาคาร พื้นที่ตั้งของอาคาร ความสอดคล้องกับชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
- การออกแบบอาคาร ช่องเปิด แสงธรรมชาติ การป้องกันมลพิษจากภายนอก ความปลอดภัย รวมถึงทิวทัศน์ภายนอก
- การออกแบบภายใน การใช้วัสดุปลอดสารพิษ การทำความสะอาด การใช้สีสันที่เหมาะสม
- การออกแบบด้านวิศวกรรม คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ระดับเสียงจากอุปกรณ์ที่เหมาะสม

ประโยชน์ของการก่อสร้างอาคารตามแนวคิด "อาคารสีเขียว"
แนวคิดการก่อสร้างอาคารสีเขียวนั้น มีข้อดีและประโยชน์หลายประการ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้คนที่ใช้งานอาคาร ดังต่อไปนี้
- อาคารสีเขียวได้รับการออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานสูง โดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น ฉนวนที่เหมาะสม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอาจส่งผลให้สามารถประหยัดค่าพลังงานสำหรับผู้อยู่อาศัยได้อย่างมาก
- เนื่องจากอาคารเหล่านี้ใช้พลังงานที่ไม่หมุนเวียนน้อยลง จึงมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการลดปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน
- อาคารสีเขียวให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ดีโดยใช้วัสดุที่เป็นพิษต่ำ ระบบระบายอากาศที่เหมาะสม และแสงธรรมชาติ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตและการทำงานที่ดีต่อสุขภาพและสะดวกสบายยิ่งขึ้น
- อาคารสีเขียวรวมเอาอุปกรณ์และระบบที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเก็บน้ำฝนและการรีไซเคิลน้ำสีเทา ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและลดความเครียดจากแหล่งน้ำในท้องถิ่น
- เนื่องจากอาคารสีเขียวมักจะรวมองค์ประกอบของการออกแบบทางชีวภาพ ซึ่งเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ประสิทธิภาพการทำงาน และความเป็นอยู่โดยรวมได้
- แม้ว่าอาคารสีเขียวอาจต้องมีการลงทุนเริ่มแรกที่สูงขึ้น แต่การประหยัดต้นทุนในระยะยาวในแง่ของค่าพลังงานและค่าน้ำที่ลดลง รวมถึงค่าบำรุงรักษาและการดำเนินงานที่ลดลง ก็อาจมีมากกว่าค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
- อาคารสีเขียวมีส่วนช่วยในการสร้างความยั่งยืน และความยืดหยุ่นโดยรวมของชุมชน ทำหน้าที่เป็นต้นแบบสำหรับแนวทางปฏิบัติในการก่อสร้าง ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นนำหลักการอาคารสีเขียวมาใช้
สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อต้องการสร้างอาคารสีเขียว
แม้อาคารสีเขียวจะให้ประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ดังต่อไปนี้
- การสร้างอาคารสีเขียว มักเกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุ เทคโนโลยี และกลยุทธ์การออกแบบพิเศษ ซึ่งสามารถเพิ่มต้นทุนการก่อสร้างเริ่มแรกได้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะสามารถชดเชยได้ด้วยการประหยัดพลังงานในระยะยาว แต่การลงทุนล่วงหน้า อาจเป็นอุปสรรคต่อนักพัฒนาบางราย
- วัสดุและเทคโนโลยีอาคาร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจไม่พร้อมใช้งานในทุกภูมิภาค ซึ่งอาจนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นและความท้าทายด้านโลจิสติกส์ในระหว่างการก่อสร้าง
- อาคารสีเขียว อาจต้องมีขั้นตอนการบำรุงรักษาเฉพาะทาง และบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม ซึ่งอาจมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับอาคารแบบดั้งเดิม การตรวจสอบ และบำรุงรักษาคุณสมบัติ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ เช่น แผงโซลาร์เซลล์หรือระบบเก็บเกี่ยวน้ำฝน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพสูงสุด
- การออกแบบอาคารสีเขียว มักจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และความยั่งยืนมากกว่าความสวยงาม ซึ่งอาจส่งผลให้สถาปนิก และนักออกแบบมีอิสระอย่างจำกัด ในการสร้างอาคารที่สะดุดตา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกฎระเบียบด้านอาคารที่เข้มงวด
- ในขณะที่ความต้องการอาคารสีเขียวกำลังเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อหรือผู้เช่าบางราย อาจยังคงสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพวกเขา หรือมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนเริ่มต้น ซึ่งอาจจำกัดความต้องการของตลาด และมูลค่าการขายต่อของอาคารสีเขียวในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม หลายคนจะมองว่าอาคารเขียวมีต้นทุนที่สูง จึงไม่กล้าที่จะสร้าง แต่หากนึกถึงประโยชน์ที่ตามของอาคารเขียว ที่จะช่วยส่งเสริมให้คนประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมาอีกมายมาย ก็นับเป็นการลงทุนที่จะมอบผลตอบแทนอันคุ้มค่า สำหรับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และโลกของเราอย่างแน่นอน.
อ้างอิงข้อมูลจาก สถาบันอาคารเขียวไทย, greennetworkthailand, บทความ : บ้านและอาคารเขียวสำคัญอย่างไร? พูดคุยกับ 4 ผู้เชี่ยวชาญจาก TGBI