เอ่ยชื่อ “องค์การสุรา” แน่นอนความเข้าใจของคนทั่วไปคือ องค์กรที่ผลิตสุราแห่งหนึ่งของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว องค์การสุรา...ไม่มีสุราสักขวดไว้ขาย แต่เป็นผู้ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ระดับพรีเมียมเกรดของประเทศ มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันกำลังปูทางสู่การเป็น “นิติบุคคล” เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการร่วมทุนเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยี มุ่งสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเอทิลแอลกอฮอล์ของประเทศ รองรับการขยายตัวด้านพลังงานทดแทนจากพืชทางการเกษตร และการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นสร้างคุณค่าให้กับสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการองค์การสุรา ให้ข้อมูลว่า องค์การสุราจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 ผลิตจำหน่ายสุราและแอลกอฮอล์เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมต่างๆ จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการผลิตและจำหน่ายสุราตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 องค์การสุราจึงยุติบทบาทการผลิตและจำหน่ายสุรา เหลือเพียงการผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องปรุงรส และเครื่องสำอาง
คุณหมอสัญชัย อธิบายว่า อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ อุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อพลังงาน ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มนี้ใช้กับรถยนต์ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุด กลุ่มที่สองเป็นการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในเครื่องดื่ม เช่น สุราขาว เบียร์ และกลุ่มสุดท้าย คือการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์เพื่ออุตสาหกรรมที่กล่าวแล้วข้างต้น
“องค์การสุราไม่ได้ผลิตและจำหน่าย ‘เหล้า’ แต่ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่เรียกว่า ‘สุราสามทับ’ โดยมีลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมหลากหลายประมาณ 3,000 ราย ปัจจุบันใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตสองตัว คือ กากน้ำตาลกับมันสำปะหลัง ซึ่งในอนาคตความต้องการใช้เอทิล แอลกอฮอล์และเอทานอลจะเติบโตขึ้นอีกมาก” ผอ.องค์การสุราบอกและว่า ก้าวใหม่ขององค์การสุรา คือ ต้องการเพิ่มวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตประเภทเซลลูโลส เอทานอล (Cellulosic Ethanol) ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ซังข้าวโพด กากอ้อย ทะลายปาล์ม หรือวัตถุดิบชนิดอื่นที่จะเกิดขึ้นในเจเนอเรชันต่อไป โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมด้านนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การขยายตลาด แต่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคการเกษตร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง โดยเฉพาะปัญหา PM2.5
คุณหมอสัญชัย อธิบายว่า การจะไปถึงจุดนั้นได้มีความจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีโรงงาน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำแผนเพื่อวิสาหกิจองค์การสุรา ประจำปี พ.ศ.2566-2570 สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกำหนดเป้าหมายในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเอทิลแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มุ่งสู่การสร้างคุณค่าให้สังคมอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“อุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทใหญ่ระดับโลกกับบริษัทชั้นนำของไทย รวมทั้งตั้งโรงงานในประเทศไทย คือการทำไบโอพลาสติกจากเอทิล แอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้ ความต้อง การวัตถุดิบแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถลด ต้นทุน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ รวมทั้ง ตอบโจทย์การพัฒนาและยกระดับอุตสาห กรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผมมองว่าองค์การสุราจะมีอนาคตทางธุรกิจที่ดี” ผอ.องค์การสุรากล่าว
นอกจากนี้ การ Rebranding หรือปรับภาพลักษณ์องค์กร ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งในแผนการปรับตัว ซึ่งชื่อ “องค์การสุรา” มักทำให้คนเข้าใจว่าเป็นหน่วยงานที่ผลิตเหล้าขาย โดยมองข้ามเรื่องแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
“เรามีลูกค้าเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม แต่เราเองไม่ได้ผลิตเหล้า นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการปรับภาพลักษณ์องค์กร เพื่อให้มีความทันสมัย สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น และมีความเป็นสากล โดยยังคงใช้คู่กับชื่อทางการคือ องค์การสุรา นอกจากนี้ก็มีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อองค์การสุรา ที่จะให้สังคมเข้าใจเราได้ดีขึ้น เช่น องค์การอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์แห่งประเทศไทย” ผอ.องค์การสุรากล่าว
นพ.สัญชัยยังบอกด้วยว่า องค์การสุราดำเนินธุรกิจมา 60 ปีแล้ว และอยู่ในฐานะผู้นำด้านนี้ ไม่ใช่เพราะกฎหมายให้สิทธิในการผลิต แต่เพราะความสามารถในการผลิตสินค้าระดับพรีเมียมเกรด ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น จึงตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้นำด้านนี้ ที่ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ แผนวิสาหกิจองค์การสุรา ประจำปี พ.ศ.2566-2570 (ฉบับทบทวนประจำปี 2567) มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยการสร้างพื้นฐานขององค์กรการบริหารจัดการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การปรับทิศทางของธุรกิจรองรับอนาคต ทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ โดยในระดับสากลเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ การบริหารงานยั่งยืนด้วยหลัก Tripple Bottom Line หรือ 3P (People, Planet, Profit) และแนวทางปฏิบัติด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนแบบ ESG ส่วนในระดับประเทศ ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ทั้งด้านการเป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาล การเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อก้าวไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน.