หลายคนคงทราบกันดีว่า "พลาสติก" ถือเป็นตัวการร้าย ที่สร้างมลพิษมากมายมหาศาล ให้กับโลกของเราในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการทิ้งขยะของมนุษย์ ประกอบกับการจัดการกับขยะพลาสติก ที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ สะสมตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะล้นเมือง มลพิษในมหาสมุทร การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ที่มีการวิจัยว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงมนุษย์เราเอง
ดังนั้นปัญหา "ขยะพลาสติก" จึงเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลก จะต้องหาทางแก้ไขให้ได้เพื่อผลักดันไปสู่ความยั่งยืน โดยหนึ่งในทางเลือกที่ได้ถูกคิดค้น และพัฒนาขึ้นมานั่นก็คือ นวัตกรรม "พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้"
"พลาสติกที่ย่อยสลายได้" คืออะไร
พลาสติกย่อยสลายได้ คือ พลาสติกที่ถูกออกแบบมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กำหนดไว้เฉพาะ ทำให้เกิดการสูญเสียคุณสมบัติบางประการ จึงสามารถย่อยสลายได้ในเวลาที่น้อยกว่า พลาสติกแบบทั่วไป ที่อาจใช้เวลาหลายร้อยปี
โดยระยะเวลาในการย่อยสลายดังกล่าว แม้จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องของวัสดุเฉพาะ และสภาวะแวดล้อม แต่ถือได้ว่าเป็นทางเลือก ที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากมองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้
รู้จักประเภทของ "พลาสติกที่ย่อยสลายได้"
หากพูดถึงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในปัจจุบัน จะมีหลายชนิด จึงเราได้รวบรวมพลาสติกประเภทใหญ่ๆ ที่เป็นรู้จักกันในวงกว้างมานำเสนอ ดังนี้
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)
พลาสติกชีวภาพ หรือ "ไบโอพลาสติก" คือ พลาสติกที่มักจะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวสาลี ฯลฯ และวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Bio Compostable) จนเหลือเพียงน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และสารปรับปรุงดิน (Humus)
ส่วนใหญ่ "ไบโอพลาสติก" จะมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ นั่นก็คือ เมื่อวัสดุส่วนใหญ่จากไบโอพลาสติกถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ และอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม จะทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย และเอนไซม์ต่างๆ จนทำให้พลาสติกจากพืชเหล่านี้ สามารถย่อยสลายเองได้ เมื่อย่อยสลายหมดแล้ว ก็จะกลายเป็นน้ำมวลชีวภาพ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน โดยไม่ทิ้งสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนแล้วมีความจำเป็น ต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย
พลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ (Environmentally Degradable Plastics : EDP)
เป็นถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ผ่านสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น กรด ด่าง น้ำ ออกซิเจน แสงแดด แรงปะทะจากน้ำฝนและแรงลม รวมถึงเอนไซม์ในจุลินทรีย์ โดยพลาสติก EDP นี้ โดยจะแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastic)
พลาสติกที่แตกตัวออก ผ่านกิจกรรมของจุลินทรีย์ หรือสิ่งมีชีวิต ซึ่งหากจะให้เกิดการย่อยอย่างสมบูรณ์ (น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือมีเทน และชีวมวล) จะต้องมีสภาวะที่เหมาะสม (เช่น จุลินทรีย์ ความชื้น และความร้อน เป็นต้น) แต่ถ้าพลาสติกนี้ ถูกทิ้งในสภาวะแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะในหลุมฝังกลบ หรือรั่วไหลลงทะเล ก็จะแตกออกเป็นชิ้นเล็ก จนกลายเป็นไมโครพลาสติก ไปสะสมในธรรมชาติมากขึ้น และอยู่เป็นระยะเวลานาน
- พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic)
พลาสติกที่สามารถสลายตัวได้ เป็นแร่ธาตุ และสารประกอบในธรรมชาติ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และชีวมวล พลาสติกชนิดนี้สามารถสลายตัวทางชีวภาพในสภาวะควบคุมที่เหมาะสม ในการหมักปุ๋ยระดับอุตสาหกรรม หรือเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอินทรีย์ แต่เมื่อพลาสติกประเภทนี้ อยู่ในธรรมชาติปกติ ก็จะไม่สามารถสลายตัวได้
ประโยชน์ของ "พลาสติกที่ย่อยสลายได้" ที่หลายคนนึกถึง
อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญที่หลายคนเลือกใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เนื่องจากมองว่ามีประโยชน์หลายในการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ที่จะลงเอยด้วยการฝังกลบ และมหาสมุทร เนื่องจากสามารถสลายตัวๆ ได้จากกระบวนการทางธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมองว่าสามารถช่วยลดมลพิษ และอันตรายต่อสัตว์ป่าได้ เพราะเมื่อย่อยสลายแล้ว จะไม่ปล่อยสารเคมี หรือไมโครพลาสติกที่เป็นอันตราย ทำให้ไม่เกิดการปนเปื้อนในดิน และน้ำ
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้หลายคนมองว่า การใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะมีส่วนช่วยให้สภาพแวดล้อมสะอาดขึ้น และดีต่อสุขภาพมากขึ้น
พลาสติกที่ย่อยสลายได้ ช่วยจัดการปัญหา "ขยะ" และไม่ทำร้ายโลกจริงหรือ
แต่ในทางกลับกัน Greenpeace เคยได้วิเคราะห์ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "พลาสติกที่ย่อยสลายได้" โดยระบุว่า ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า พลาสติกประเภท Biodegradable Plastic จะสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้หมดจดอย่างสมบูรณ์ ท้ายสุดแล้ว มันกลับกลายเป็นเพียงแค่การแตกตัวออก เป็นไมโครพลาสติก ที่สามารถดูดซึมสารเคมีอันตรายชนิด DDT (dichlorodiphenyltrichloroethane) และ PCBs (polychlorinated biphenyls) รวมทั้งโลหะหนักอื่นๆ ที่อยู่ในดิน ในทะเล หรือถูกสะสมเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต และอาจส่งผลต่อร่างกายมนุษย์เรา เช่น สารก่อมะเร็ง เป็นต้น
ในขณะที่พลาสติกที่ผลิตจากพืช แม้จะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากใช้เป็นจำนวนมาก และจัดการไม่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ เนื่องจากก่อให้เกิดจุลินทรีย์จำนวนมาก คล้ายๆ กับการลอยกระทง หากมีจำนวนมากเกินก็สามารถทำให้น้ำเน่าได้ ถึงแม้จะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติก็ตาม
ปัจจัยที่ต้องคำนึง เมื่อเลือกใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้จะคนจะหันมาใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ก็ยังไม่แน่ว่าจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณา และคำนึงนั่นก็คือ เรื่องของเงื่อนไขในการย่อยสลาย และทรัพยากร ดังนี้
- พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ต้องมีเงื่อนไขเฉพาะในการย่อยสลายอย่างมีประสิทธิภาพ หากพวกมันถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ที่ไม่มีสภาวะความอบอุ่น ออกซิเจน และความชื้นที่จำเป็น ก็ไม่อาจไม่สลายตัวเร็วอย่างที่ตั้งใจไว้ เผลอๆ อาจทำให้คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นไปอีก
- การผลิตพลาสติก ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มักใช้พลังงาน และทรัพยากรมากกว่า เมื่อเทียบกับพลาสติกแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในระหว่างกระบวนการผลิต
- นอกจากนี้ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพบางชนิด อาจปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายเมื่อสลายตัว ส่งผลเสียต่อคุณภาพดินและน้ำ หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
- ต้นทุนในการผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยทั่วไปจะสูงกว่าพลาสติกแบบดั้งเดิม สิ่งนี้อาจทำให้มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจน้อยลง สำหรับการใช้งานในวงกว้าง ขัดขวางการยอมรับ และการจำกัดความพร้อมในตลาด
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ แม้ว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะให้ประโยชน์ที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อเพิ่มประสิทธิผลสูงสุด และลดข้อเสียให้เหลือน้อยที่สุด.
ขอบคุณข้อมูลจาก chulazerowaste, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน), Greenpeace