ปลัด มท. ร่วมกับ UN Thailand ประกาศจุดยืนในการเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบเดียวนี้ หวังเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนคนไทย ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.45 น. ที่ ESCAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมงานหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างกระทรวงมหาดไทยและองค์การสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ดร.ออดรี-อานนท์ โรเชเลมันยา เลขานุการเอก หัวหน้าทีมฝ่ายความร่วมมือสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานหลัก UN 21 หน่วยงานในประเทศไทย อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุมอย่างเนืองแน่น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ขอขอบคุณ UN Thailand และ 21 หน่วยงานภายใต้ UN Thailand ที่ได้ร่วมกับ มท. ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า เป็นระยะเวลากว่า 4 ปีที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยขับเคลื่อนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่โลกใบเดียวนี้ ผ่านการขับเคลื่อน "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" ในทุกครัวเรือนทั่วประเทศกว่า 14 ล้านครัวเรือน ซึ่ง "ผลแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจนี้เอง" ปรากฏผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม "เป็นชาติแรกของโลก" ที่สามารถประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน ทำให้ทุกวันนี้เป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ประมาณ 1.6 ล้านตันที่ทั่วโลกประกาศร่วมกันว่าจะสำเร็จในปี 2573
แต่กระทรวงมหาดไทยภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้ทำทะลุเป้าหมายแล้ว คือ ภายในปี 2569 เราจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศถึง 1.8 ล้านตันเศษ ซึ่งเป้าหมายในปีนี้ "จะมีการคัดแยกขยะไปสู่ถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบถ้วนทุกครัวเรือน" และที่สำคัญที่สุดคาร์บอนเครดิตที่เราจะขายได้จากถังขยะเปียกลดโลกร้อน จะสร้างเงินรายได้กว่า 20,000 ล้านบาท กลับไปสู่ท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีความเดือดร้อน
ด้าน ดร.วันดี กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว ที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาบทบาทสตรีผ่านการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ของ UN เพื่อพัฒนาในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน โดยเรื่องที่ 1 คือ ความสำเร็จของการคัดแยกขยะครัวเรือน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ได้รับการรับรอง Methodology พร้อมทั้งได้ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ถือว่าเป็นโครงการแรกของไทยที่เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีขอบเขต และส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมกว่า 13 ล้านครัวเรือน ช่วยกันคัดแยกขยะอาหารจากครัวเรือน พร้อมกันนี้ธนาคารกสิกรไทยยังได้ให้การสนับสนุนโครงการฯ โดยรับซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งหมดในราคาตันละ 260 บาท เกิดเป็นเงินรายได้กลับไปสู่ อปท. เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป
เรื่องที่ 2 เราประสบความสำเร็จในการร่วมกันส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวในครัวเรือน ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วกว่า 14 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 100% ตามจำนวนครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 100 บาท/ครัวเรือน/วัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ต่อปี เป็นจำนวนเงินกว่า 500,000 ล้านบาท เกิดเป็นความเชื่อมโยงการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม คุณกีต้า กล่าวชื่นชมว่า การริเริ่มโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถช่วยเติมเต็มกระบวนการสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ แก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยายผลสู่ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งตนได้มีโอกาสลงไปสังเกตการณ์พื้นที่ 5 จังหวัด (สกลนคร ปัตตานี พัทลุง เชียงราย และลพบุรี) พร้อมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย
โดยการคัดแยกขยะของครัวเรือน 14 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ทำให้การปล่อยคาร์บอนลดลงถึง 5.5 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อปท. สามารถขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีธนาคารรับซื้อและรายได้ก็นำกลับไปทำประโยชน์ในชุมชน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ครัวเรือนรวบรวมและคัดแยกขยะต่อไป
และอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ โครงการแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) ที่เป็นแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มุ่งส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิตผ้าและเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบผ้า พัฒนารูปแบบ ลวดลาย นำไปสู่การยกระดับผ้าไทยให้กลายเป็น Soft Power ซึ่งตนได้มีโอกาสสัมผัสถึงภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของผืนผ้าบาติก ที่ยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และประทับใจในการมีส่วนร่วมของชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ และหวังว่านับต่อจากนี้กระทรวงมหาดไทยและ UN จะกระชับความร่วมมือและขับเคลื่อน SDGs ให้ประสบผลสำเร็จในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป