• Future Perfect
  • Articles
  • พลาสติก PET เหมือนกัน แต่เมื่อมีสี สกรีนลาย กลับรีไซเคิลได้ต่างกัน

พลาสติก PET เหมือนกัน แต่เมื่อมีสี สกรีนลาย กลับรีไซเคิลได้ต่างกัน

Sustainability

ความยั่งยืน9 พ.ย. 2566 15:45 น.
  • เรื่องที่น้อยคนจะรู้ ขวดจากพลาสติก PET รีไซเคิลได้ แต่ขวด PET ที่มีสี หรือแก้วจากพลาสติก PET ที่มีการสกรีน ส่วนใหญ่ไม่ถูกนิยมนำไปรีไซเคิล และปลายทางก็จะต้องโดนทิ้งด้วยการฝังกลบ
  • เปิดสาเหตุที่ ทำไมไม่นิยมนำขวด PET มีสี หรือแก้ว PET ที่มีลายสกรีนไปรีไซเคิล 

เมื่อพูดถึงขยะที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด คงหนีไม่พ้นขยะพลาสติก ซึ่งเราเคยนำเสนอไปแล้วว่า พลาสติกที่จะถูกนำไปรีไซเคิลได้นั้นมีอยู่ด้วยกัน 7 ประเภท ด้วยกัน โดยเมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลด้วยความร้อนแล้ว ก็จะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ต่อไป

ซึ่งหนึ่งในประเภทของพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้นั้นคือ พลาสติก PET (Polyethylene terephthalate) พลาสติกประเภท Thermoplastic ซึ่งมีความใส และเหนียว มีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดี ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการผลิตขวดเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1

โดยขวดที่เป็นพลาสติก PET เหล่านี้เมื่อถูกใช้งาน และถูกทิ้งแล้ว ก่อนที่จะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลนั้น ขวด PET จะถูกบีบอัดจนกลายเป็นกองพลาสติกขนาดใหญ่ และจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จากนั้นจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการคัดแยก นำสิ่งแปลกปลอมออกจากขวด และนำไปทำความสะอาด รวมถึงกำจัดเชื้อโรค จากนั้นจะถูกนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยความร้อน 285-300 องศาเซลเซียส เพื่อหลอมพลาสติกให้เป็นเม็ดพลาสติก rPET รอส่งออกไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ

รู้หรือไม่ แก้วจากพลาสติก PET ส่วนใหญ่ลงหลุมฝังกลบ

พลาสติก PET เหมือนกัน แต่ทำไมขวด PET สีใส ถึงรีไซเคิลได้ แต่ขวด PET ที่มีสี หรือแก้วจากพลาสติก PET ที่มีการสกรีนนั้น ไม่ค่อยนิยมนำไปรีไซเคิล สุดท้ายส่วนใหญ่มักจะไปลงหลุมฝังกลบ กลายเป็นขยะที่สร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อม

อธิบายง่ายๆ คือ ขวด PET ที่มีสี หรือแก้ว PET ส่วนใหญ่จะสกรีนโลโก้ด้วยสีต่างๆ ทำให้เมื่อเข้าสู่กระบวนการหลอมพลาสติกแล้วจะมีสารบางอย่างปนเปื้อนไปในพลาสติกด้วย 

หรือเมื่อแก้วที่ทำจากพลาสติก PET ถูกนำไปผ่านกระบวนการความร้อนแล้ว ผลที่ได้ออกมาอาจจะมีสีที่เข้มขึ้น จนเป็นข้อจำกัดในการถูกนำไปใช้ต่อ พลาสติกที่ปนเปื้อนสีเหล่านี้ก็จะต้องกลายเป็นขยะที่ต้องถูกฝังกลบเท่านั้น

นอกจากนี้ ราคาในการรับซื้อพลาสติก PET ก็ยังต่างกันด้วย เบื้องต้น จากการสำรวจพบว่า ราคารับซื้อขวดพลาสติก PET (ต่อกิโลกรัม) ของธุรกิจ หรือโรงงานรีไซเคิลนั้น เป็นดังนี้

  • พลาสติกใส / ขวดน้ำดื่ม PET ราคาอยู่ที่ 5-7 บาทต่อกิโลกรัม
  • ขวดน้ำจากพลาสติก PET ที่เป็นสี ราคาอยู่ที่ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม
  • ขวดน้ำจากพลาสติก PET สีเขียว ราคาอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม
  • ขวดน้ำจากพลาสติก PET สีชา หรือสีดำ ราคาอยู่ที่ 1 บาทต่อกิโลกรัม


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการแชร์จดหมายอ้างที่ออกโดย กรมควบคุมมลพิษ ส่งถึงผู้ผลิต ให้พิจารณายกเลิกการใช้ขวด PET ที่เป็นสี โดยให้เหตุผลว่า ประเภทของขวดพลาสติก PET ที่มีสีนั้นยังเป็นปัญหาในการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพบว่ามีการตกค้างในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการรีไซเคิล โดยราคารับซื้อต่ำ ไม่คุ้มต่อการคัดแยก และการเก็บรวบรวม

อีกทั้งตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบฝังกลบขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2570 และผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% ภายในปี 2570

ทำให้ กรมควบคุมมลพิษ ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการพิจารณาเปลี่ยนการผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นสีที่ต้องการของตลาดรีไซเคิล เพื่อให้สอดคล้องต่อแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 ด้วย

เราเองในฐานะผู้บริโภค และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากการลดใช้พลาสติก การแยกขยะก่อนทิ้ง ก็เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนอยากให้เกิดได้จริงในประเทศไทย.

SHARE

Follow us

  • |