- ทำความเข้าใจ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร และเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร
- ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศที่ประเทศไทย พร้อมไขข้อสงสัย ทำไม "ภาคเหนือ" เจอพิษฝุ่นหนักกว่าภาคอื่น
- แนะแนวทางแก้ "ปัญหามลพิษ" จากระดับล่างสู่บน พร้อมแนวทางเพื่อให้โลกมี "อากาศสะอาด"
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่วนกลับมาอีกครั้ง สำหรับ ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงใกล้เข้าสู่หน้าหนาว ที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเมื่อประมาณ 2-3 วันที่ผ่านมา ข่าวของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล คุณหมอซึ่งป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 เจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" ได้ออกมาอัปเดตอาการล่าสุด และเผยว่าตนเองนั้น "คงอยู่ได้อีกไม่นาน"
ทำให้หลายๆ คนต่างเข้าไปให้กำลังใจ และเรียกร้อง ผลักดันให้ "ปัญหามลพิษทางอากาศ" ในประเทศไทย จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเด็ดขาดเสียที เพื่อตัดวงจรของมลพิษร้าย ที่อาจคร่าชีวิตใครไปหลายๆ คน แต่แน่นอนว่าหลายคนคงมีคำถาม และสงสัยตามว่า "เมื่อไรเราถึงจะจัดการกันได้เสียที"
ทำความเข้าใจ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร และเกิดจากอะไร
ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
และในปี พ.ศ. 2557 ยังได้ประกาศว่า การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 จะก่อให้เกิดอุบัติการณ์การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี โดยผู้เสียชีวิตส่วนมากมีถิ่นที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5
สำหรับที่มาของฝุ่น PM 2.5 นั้น เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด ซึ่งรายงานการศึกษาของ Greenpeace สามารถสรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้เป็น 2 แหล่งกำเนิดใหญ่ๆ คือ
- แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 209,937 ตัน/ปี รองลงมาคือ อุตสาหกรรม 65,140 ตัน/ปี การขนส่ง 50,200 ตัน/ปี และการผลิตไฟฟ้า 31,793 ตัน/ปี
- แหล่งกำเนิดทางอ้อม ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยเกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และน้ำมัน 231,000 ตัน/ปี จากโรงงานอุตสาหกรรม 212,000 ตัน/ปี และไนโตรเจนออกไซด์ ที่มาจากการขนส่ง 246,000 ตัน/ปี การผลิตไฟฟ้า (227,000 ตัน/ปี) และโรงงานอุตสาหกรรม (222,000 ตัน/ปี) ตามลำดับ
ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศที่ประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงปรับระดับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้การเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือน รวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชน มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำแนะนำในการปฏิบัติตนในแต่ละระดับสีของฝุ่น PM 2.5 ดังนี้
- สีฟ้า ระดับดีมาก (0-15 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทุกคนสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ
- สีเขียว ระดับดี (15.1-25 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง
- สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1-37.5 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง กลุ่มเสี่ยง ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง และผู้มีโรคประจำตัว ควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
- สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6-75 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยง ควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
- สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทุกคนงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในห้องปลอดฝุ่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
ไขข้อสงสัย ทำไมภาคเหนือถึงเจอพิษฝุ่น PM 2.5 หนักกว่าภาคอื่นๆ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ภาคเหนือถึงเจอพิษฝุ่น PM 2.5 หนักกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากความกดอากาศสูง ที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนกำลังลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ
ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี ฝุ่นควันจึงสะสมในอากาศ ซึ่งสภาพอากาศที่แห้ง ก็ยังเอื้อต่อการเกิดไฟป่าง่ายอีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น เขตภาคเหนือยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น
ผลกระทบต่อสุขภาพของ PM 2.5
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งหากได้สัมผัสโดน จะส่งผลกระทบที่แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
การสัมผัสในระยะสั้น
- ทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก ถุงลมแฟบ สมรรถภาพปอดลดลง ภูมิแพ้และหืดกำเริบ
- ทำลายภูมิคุ้มกัน เกิดการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่, หลอดลมอักเสบ, หูอักเสบ
- พัฒนาการเด็กล่าช้า
- ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก
การสัมผัสในระยะยาว
- โรคมะเร็งปอด
- การอักเสบของเส้นเลือด อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคทางผิวหนังหรือตาอักเสบ
- ผิวมีจุดด่างดำและรอยย่น ดูแก่กว่าวัย
ข้อจำกัดที่ทำให้การแก้ปัญหา "หมอกควัน" ล้มเหลว
เมื่อทราบถึงผลกระทบของปัญหาฝุ่นละอองที่ส่งผลเสียกับสุขภาพนานัปการแล้ว หลายคนคงจะสงสัยว่า แล้วทำไมเราถึงไม่จัดการแก้ไขปัญหานี้ให้หมดสักที เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, กัมพล ปั้นตะกั่ว และ สุทธิภัทร ราชคม นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยได้กล่าวถึงข้อจำกัด 3 ด้าน ที่ทำให้การแก้ปัญหาหมอกควันของรัฐล้มเหลว ดังนี้
1. แนวทางการจัดการฝุ่น PM 2.5 แบบภัยพิบัติ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม
โดยแนวทางดังกล่าวนั้น คือ การตั้งกรรมการในเดือนตุลาคม ก่อนมีฝุ่น PM 2.5 และสลายตัวเดือนพฤษภาคม ทำให้ขาดความจำสถาบัน ขาดการจัดการ และการศึกษาวิเคราะห์แบบต่อเนื่องโดยมืออาชีพ ซึ่งในกรณีนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง 3
2. ท้องถิ่นขาดเงิน และถูกซ้ำเติมจากกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ
แม้ว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ จะได้ริเริ่มให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดภายใต้โครงสร้างการบริหารงานเชิงพื้นที่ แบบบูรณาการ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ผ่านกระบวนการล่างสู่บน (Bottom Up) แต่ผลการดำเนินงานน่าผิดหวัง เพราะการจัดสรรงบประมาณยังไม่มีประสิทธิภาพ
3. ข้อมูลขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของฝุ่น PM 2.5 ที่มีจำกัด
แม้จะมีการจัดการฝุ่น PM 2.5 ภายในจังหวัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ ชุมชน และกลุ่มประชาสังคม มีมาตรการป้องกันทั้งในเมืองและชนบท ก็ไม่อาจแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้
ดังที่เห็นตัวอย่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการจัดการร่วมกันเป็นกลุ่มจังหวัด ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฝุ่น PM 2.5 ส่วนหนึ่งพัดข้ามมาจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชายแดนฝั่งพม่า ที่ปลูกข้าวโพด ส่วนชายแดนเขมร ก็มีการปลูกอ้อยและเผาไร่อ้อย ทำให้ฝุ่น PM 2.5 พัดเข้าถึงกรุงเทพฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ
ซึ่งนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายของไทย ยังไม่มีข้อมูลและความรู้ว่าขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของฝุ่น PM 2.5 ที่เรียกว่า airshed อย่างเพียงพอ ว่าในภาคเหนือ airshed กินพื้นที่เท่าไร และประเทศไทยมีกี่แห่ง แต่ละแห่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดใดบ้าง เรารู้เพียงแค่ว่า 60-65% ของฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ มาจากต่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนแก้ปัญหาฝุ่นควันได้อย่างเด็ดขาด จนนำไปสู่ความสำเร็จ
นโยบายแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 จากระดับล่างสู่บน
สำหรับนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองนั้น ตามรายงานการวิจัย "ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5" ได้อธิบายวิธีแก้ปัญหา ดังนี้
- เร่งศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขต airshed ของฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหาข้ามจังหวัดและข้ามประเทศ
- จัดทำแผนปฏิบัติด้านการบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยความร่วมมือของชุมชน อบต. หน่วยราชการในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ใน airshed เดียวกัน
- สร้างความร่วมมือในการป้องกันและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายในแต่ละ airshed กับประเทศเพื่อนบ้าน และนักธุรกิจไทยที่ไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดและอ้อย ในพม่า ลาว เขมร
- สร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ เพื่อให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทางออกที่น่าจะมีความเป็นไปได้สำหรับเกษตรกรสูงอายุที่อยู่บนที่สูง โดยรัฐจะต้องเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราเท่ากับต้นทุนทางสังคมจากกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อก๊าซเรือนกระจก แล้วนำเงินรายได้มาใช้ซื้อคาร์บอนเครดิต รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าและดูแลจัดการอย่างจริงจัง
- นโยบายลดการเผาในที่โล่งในภาคเกษตรและป่า ในระยะสั้น ลดการเผา ทยอยกันเผา เช่น การอุดหนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับระดับแปลงไร่นาเพื่อใช้เครื่องจักรแทนการเผา ในระยะกลาง วิจัย/พัฒนาพืชทดแทน สร้างอาชีพใหม่ เพื่อชาวบ้านมีรายได้ที่ดีจากอาชีพที่หลากหลาย
- นโยบายในเมือง : การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง อุตสาหกรรม สร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับ โดยเก็บภาษีคาร์บอน และการซื้อขายเครดิตคาร์บอน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 และก๊าซเรือนกระจก
แนะแนวทางเพื่อให้โลกมี "อากาศสะอาด"
อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีที่จะช่วยให้โลกมีอากาศที่สะอาดและบริสุทธิ์นั้น มีหลายขั้นตอนที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- ลดมลพิษทางอากาศ ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวด เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางอุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รถร่วม และปั่นจักรยาน เพื่อลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ลงทุนในยานพาหนะไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ
- ปลูกต้นไม้และสร้างพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยออกซิเจน ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ เพิ่มจำนวนต้นไม้ในเขตเมือง และสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อฟอกอากาศ
- สร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับความสำคัญของอากาศที่สะอาด และผลกระทบของมลพิษที่มีต่อสุขภาพ ส่งเสริมให้บุคคลตัดสินใจเลือกอย่างมีสติในชีวิตประจำวัน เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
- สนับสนุนความพยายามระหว่างประเทศ ร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั่วโลก แบ่งปันความรู้ เทคโนโลยี และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้อากาศที่สะอาด.
อ้างอิงข้อมูลจาก รายงานการวิจัย "ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5"