ผู้ว่าฯ "ชัชชาติ" นำปลูกต้นไม้ "สวน 15 นาที" พื้นที่เขตบึงกุ่ม สร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
วันที่ 4 พ.ย. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตบึงกุ่ม ร่วมกันปลูกต้นไม้ ประกอบด้วย ต้นขนุน ต้นมะม่วง ต้นมะยม ต้นมะยงชิด ต้นสาเก ต้นชมพู่มะเหมี่ยว ต้นมะฮอกกานี ต้นอิน-จัน ต้นเสลา รวมทั้งสิ้น 20 ต้น ร่วมกับประชาชน ณ บริเวณศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม สวน 15 นาที เขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง จากนั้นตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม เขตบึงกุ่ม
ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตบึงกุ่มปลูกต้นไม้แล้ว 27,771 ต้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ร่วมจองปลูกต้นไม้ จำนวน 1,641,310 ต้น ปลูกแล้ว 690,645 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ย. 66 เวลา 09.00 น.) สำหรับประชาชนผู้สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้า หรือร่วมบันทึกปลูกต้นไม้ได้ที่ เว็บไซต์ https://tree.bangkok.go.th/
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาอันดับแรกที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะมูลฝอยที่ประชาชนผลิตขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งมีประมาณ 10,600 ตัน/วัน เฉลี่ย 1.15 กก./คน/วัน ทำให้กรุงเทพมหานครเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะประมาณ 7,000 ล้านบาท การที่สำนักงานเขตบีงกุ่มจึงมีแนวคิดหาวิธีการลดปริมาณขยะจากแหล่งกำเนิด จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมเขตบึงกุ่มขึ้น จากแนวคิด "การเอาขยะมาสร้างศูนย์ เพราะขยะคือทรัพยากร" โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาปรับใช้ โดยได้นำขยะที่คัดแยกจากโครงการที่ได้ดำเนินการ เช่น โครงการเก็บขยะขึ้นใหญ่ และสิ่งของเหลือใช้ที่เขตดำเนินการทุกวันอาทิตย์ นำกลับมาซ่อมแซม
สำหรับศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมเขตบึงกุ่ม มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ โดยนำที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของเอกชน ในนามบริษัท รามอินทรา จำกัด ของนายสุขุม นวพันธ์ นำมาปรับปรุงให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัย ลดปัญหาด้านอาชญากรรม อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มก่อตั้งศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 59 โดยไม่ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชน และประชาชน ในด้านการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยการร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้มีการคัดแยกวัสดุที่ยังสามารถใช้ได้นำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ก่อนทิ้ง
ทั้งนี้ เป็นการกระตุ้น และรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน เยาวชน และบุคลากรของสำนักงานเขตได้รับการฝึกฝน และเรียนรู้วิธีการแปรรูปขยะเหลือใช้นำมาดัดแปลงใช้ประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะ และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เป็นการส่งเสริมอาชีพ และสร้างรายได้ให้ประชาชน และบุคลากรของสำนักงานเขต เช่น สร้างอาชีพก่อนวัยเกษียณ และยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยจัดทำเป็น "สวน 15 นาที" อีกแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตบึงกุ่มอีกด้วย.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร