- รู้จักพลาสติก 7 ชนิด ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- สังเกตสัญลักษณ์ของพลาสติกแต่ละชนิดที่สามารถรีไซเคิลได้ โดยจะมีติดอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ หรือของใช้แต่ละชนิด
เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้ว่า "พลาสติก" สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ช้าก่อน เพราะไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดจะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ประกอบร่างกลับมาเป็นวัสดุในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ใหม่ได้ ซึ่งขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ มีอยู่ด้วยกัน 7 ประเภท คือ
1. พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE) เป็นพลาสติกพอลิเมอร์ใส เนื้อเหนียว ทนทานต่อแรงกระแทก มีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดี ส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตขวดเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1
ซึ่งสามารถนำมารีไซเคิลกลับมาเป็นขวดเครื่องดื่ม ขวดน้ำยาซักผ้า ฟิล์มใส รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ พรม เส้นใยสังเคราะห์ เสื้อกันหนาวได้ ฯลฯ
2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) พลาสติกชนิดนี้มีความหนาแน่นสูง โปร่งแสงน้อยกว่าพอลิเอทิลีน ทนกรดและด่าง ป้องกันการแพร่ผ่านของความชื้นได้ดี ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ผลิตเป็นขวดนม บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ถุงพลาสติก ถังขยะ ถังบรรจุสารเคมี ฯลฯ ซึ่งจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 2
และเนื่องจากพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง น้ำหนักเบา แต่ทนทาน สามารถรีไซเคิลได้ง่าย ส่วนใหญ่จะนำไปผลิตเป็นโต๊ะปิกนิก ม้านั่ง ท่ออ่อน รั้ว กล่องขนาดใหญ่ ฯลฯ
3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) จะเป็นพลาสติกใสที่มีความแข็งแรงมาก ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร แต่ป้องกันไขมันได้ดี ส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตท่อน้ำประปา หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์การแพทย์ สังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 3
พลาสติก PVC มีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนาน จึงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือสามารถนำกลับมารีไซเคิลให้เป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหาร ของเล่นพลาสติก พลาสติกห่อหุ้มอาหาร และท่อพลาสติกได้
4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) มีลักษณะเป็นพลาสติกโปร่งแสง ที่มีปริมาตรสูง แต่ความหนาแน่นต่ำ นิยมนำไปใช้ในการผลิตถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง แผ่นฟิล์ม ถุงใส่ของ และสายหุ้มทองแดง สังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 4
ซึ่งพลาสติกชนิดนี้ เป็นพลาสติกที่น้ำหนักเบา รีไซเคิลได้ยากมาก แต่ก็สามารถรีไซเคิลให้ออกมาเป็นถุงพลาสติกแบบบาง พลาสติกแร็ป ถุงดำ ถุงขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ ได้
5. พอลิโพรพิลีน (Polypropylene : PP) เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ทนความร้อนสูง นิยมนำไปใช้ในการผลิตฉนวนไฟฟ้า บานพับ ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด สังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 5
โดยเมื่อพลาสติกชนิดนี้ ผ่านกระบวนการรีไซเคิล ก็จะออกมาเป็นรูปแบบของถุงร้อนใส่อาหาร หรือแก้วพลาสติกแบบแข็ง
6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส เปราะบาง แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่างๆ ได้ง่าย ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร ราคาไม่แพง ผลิตได้ง่าย และเหมาะกับการใช้ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะนำมาผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาชนะ เช่น ถ้วย จาน และกล่องโฟม สังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 6
โดยพลาสติกชนิดนี้ สามารถรีไซเคิลได้ กลับมาเป็น จาน แผงไข่ไก่ หรือเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
7. พลาสติกอื่นๆ (Other) พลาสติกชนิดอื่นๆ คือพลาสติกที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก หรืออาจจะเป็นการนำพลาสติกแต่ละชนิดมาผสมกัน สังเกตได้จากสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 7 เช่น พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate : PC) เป็นพลาสติกโปร่งใส มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หากถูกนำไปกำจัดอย่างผิดวิธี
พลาสติกตามสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 7 นี้ หากนำกลับมารีไซเคิลใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของขวดน้ำ กล่อง และถุงบรรจุอาหาร กระสอบปุ๋ย ถุงขยะ เฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นพลาสติกแล้ว ก่อนที่จะถูกนำไปรีไซเคิลได้ ก็ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาด คัดแยก ซึ่งเราที่เป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ทิ้งพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ก็มีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยการ "คัดแยกขยะ"