รู้หรือไม่ ความน่าสะพรึงของ "เทศกาลฮาโลวีน" ไม่ใช่การแต่งตัวเพิ่มความสยอง แต่คือการสร้างขยะให้กับโลก สุดท้ายแล้วจะย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์
ในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันฮาโลวีน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองจากฝั่งตะวันตก โดยจะจัดขึ้นก่อนถึงวันสมโภชนักบุญทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก แต่ในปัจจุบันวัฒนธรรมนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย
ประวัติฮาโลวีน
จุดเริ่มต้นของ "วันฮาโลวีน" มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลท์ ชนพื้นเมืองในไอร์แลนด์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อเฉลิมฉลองเทพเจ้าแห่งความตาย ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ที่เชื่อว่าเป็นวันที่วิญญาณของคนตายกลับมาโลกมนุษย์และจะพยายามสิงร่างคน ทำให้ชาวเซลท์พยายามป้องกันผีร้ายด้วยการแต่งตัว ปลอมเป็นผีเดินทางท้องถนนเพื่อให้ผีตกใจและหนีไป ซึ่งต่อมาวิธีนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมของชาวเซลท์ และได้เผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ
ในปัจจุบัน เมื่อถึงช่วงเทศกาลฮาโลวีน หลายประเทศจะจัดกิจกรรมครึกครื้นมากมาย เช่น ตกแต่งสถานที่ให้มีบรรยากาศน่ากลัว มีการแต่งตัวเป็นผีสร้างความหลอนร่วมขบวนพาเหรดกันอย่างสนุกสนาน รวมไปถึงอาหารและขนมมากมายถูกรังสรรค์ให้เข้ากับธีมฮาโลวีน โดยเฉพาะ "ฟักทอง" จะถูกนำมาประดับตกแต่งมากเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน
เรื่องสยองวันฮาโลวีน
แต่รู้หรือไม่ว่า ความน่ากลัวของเทศกาลฮาโลวีนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแต่งกายหรือการแต่งหน้าที่เพิ่มความสยดสยอง แต่ความน่าสะพรึงที่แท้จริงเกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดการเฉลิมฉลอง
เช้าวันต่อมาจะพบว่ามีขยะถูกทิ้งจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะขยะจากฟักทองแกะสลัก ซึ่งสุดท้ายแล้วฟักทองเหล่านี้จะกลายเป็นขยะเศษอาหาร มีปลายทางสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก เนื่องจากฟักทองก่อให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโลก
นอกจากนี้ยังมีขยะจากเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระดาษห่อขนม ขวด กระป๋องเครื่องดื่ม ที่ผู้คนนำมาสังสรรค์ ซึ่งสุดท้ายแล้วขยะเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
แนวทางลดขยะรักษ์โลก
ดังนั้น ฮาโลวีนปีนี้ จะดีไม่น้อยหากทุกคนร่วมมือกันตระหนักถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เป็นวิธีง่ายๆ ที่เราสามารถช่วยโลกได้ ดังนี้
- แฟชั่นหมุนเวียน การนำเสื้อผ้าเก่ามาดัดแปลงใช้ใหม่ หรือหากใครซื้อเครื่องประดับก็สามารถเก็บไว้ใช้ปีต่อไปได้
- สร้างขยะให้น้อยที่สุด หรือ ละการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use Plastic) เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติก
- ทิ้งขยะให้เป็นที่ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง