• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จัก "ปะการังเทียม" นวัตกรรมขับเคลื่อนความยั่งยืน พลิกฟื้นโลกใต้ท้องทะเล

รู้จัก "ปะการังเทียม" นวัตกรรมขับเคลื่อนความยั่งยืน พลิกฟื้นโลกใต้ท้องทะเล

Sustainability

ความยั่งยืน30 ต.ค. 2566 17:56 น.
  • แนวปะการังเทียม คือ โครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เลียนแบบแนวปะการังตามธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับท้องทะเล
  • ในปัจจุบันมีหลายประเภท แต่จะต้องให้มีช่องว่าง หรือรู เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ และให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก
  • ประโยชน์ของ "แนวปะการังเทียม" มีหลายประการ จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์และให้ความสำคัญ เพื่อปกป้องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า "แนวปะการัง" เป็นระบบนิเวศที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมถึงมีบทบาทในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศและชุมชนชายฝั่ง แต่สถานการณ์แนวปะการังของประเทศไทยในปัจจุบันกลับน่าเป็นห่วง จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงแบบทำลายล้าง การปล่อยมลพิษ และการรั่วไหลของน้ำมัน เป็นผลให้แนวปะการังจำนวนมากต้องเผชิญกับการเสื่อมโทรม และมีความเสี่ยงต่อการเสียหายที่ไม่อาจรักษากลับคืนได้

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมมือกันคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล ผ่านการออกกฎระเบียบต่างๆ อาทิ การจำกัดการประมง และกิจกรรมที่สร้างความเสียหาย การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แนวปะการัง รวมถึงการสร้าง "แนวปะการังเทียม" เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

ปะการังเทียม คืออะไร 

ปะการังเทียม หรือแนวปะการังเทียม หมายถึงโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เลียนแบบแนวปะการังตามธรรมชาติ จากวัสดุประเภทคอนกรีต โลหะ หรือไฟเบอร์กลาส เป็นต้น และจัดวางอย่างมีกลยุทธ์ ในสภาพแวดล้อมทางทะเล ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น การสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ สำหรับปลาและสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ การปกป้องแนวชายฝั่งที่เปราะบางจากการกัดเซาะ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ที่แนวปะการังธรรมชาติได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลาย

การสร้างและการจัดวาง "แนวปะการังเทียม" ในประเทศไทย 

การสร้างปะการังเทียมในประเทศไทยนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่เป็นลักษณะที่ไม่มั่นคงหรือยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ปลามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยสร้างในรูปแบบของซั้ง หรือกร่ำ

ต่อมา สภาวะทรัพยากรประมงก็เริ่มเสื่อมโทรมลง ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเครื่องมือทําการประมง การนําเครื่องมืออวนลาก เข้ามาทําการประมงในเขตทะเลไทย เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทําให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์หน้าดิน ถูกจับขึ้นมามาก จนเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ

ชาวประมงพื้นบ้านจึงได้เริ่มวางปะการังเทียม เพื่อป้องกันอวนลากไม่ให้เข้าในเขตห้ามทำการประมง 3,000 เมตรจากฝั่ง โดยจะใช้วัสดุที่เป็นคอนกรีต และมีก้านที่เป็นเหล็กแหลมคมยื่นออกมา ทำให้แนวคิดการวางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแพร่หลาย 

จนมีการวางปะการังเทียมพื้นฟูแหล่งอาศัยสำหรับสัตว์น้ำ ในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 ที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "มีนนิเวศน์" จากการนำวัสดุเหลือใช้ ที่หาได้ง่ายในบริเวณนั้น และมีราคาถูก เช่น ยางรถยนต์ หิน ไม้ และแท่งคอนกรีตรูปทรงกลม มาประกอบรวมเข้าด้วยกัน จํานวน 9 รูปแบบตามหลัก และวิธีการที่ได้ศึกษาจากเอกสารรายงานทางวิชาการของต่างประเทศ

ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีสัตวน้ำเศรษฐกิจหลายชนิด ทั้งปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และจําพวกสัตวน้ำอื่นๆ เข้ามาอาศัยเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไบรโอซัว ปะการัง และเม่นทะเล ส่วนปลาจะเข้ามาอาศัยหลบภัยในภายหลัง

จากนั้นจึงมีโครงการวางปะการังเทียมขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่อ่าวพังงา ในปี พ.ศ. 2525 จนสุดท้ายจัดสร้าง "ปะการังเทียม" ถูกบรรจุไว้ในโครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่ง และมีการทดลองสร้างเรื่อยมาในหลายพื้นที่ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

รู้จักประเภทของ "ปะการังเทียม"

รูปทรงของปะการังเทียมจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ แต่ปัจจัยหนึ่งในการออกแบบ คือ ต้องให้มีช่องว่าง หรือรู เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก และส่งเสริมให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัยภายในช่องว่างได้ ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้จัดวางเป็นปะการังเทียมในปัจจุบัน คือ วัสดุที่ทำจาก "คอนกรีต"

เนื่องจากมีความทนทาน อายุการใช้งานนาน มีน้ำหนักมาก มีการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย ส่งผลกระทบเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลน้อย เป็นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดได้ดี และกลายเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดใหญ่ ในลักษณะของสายใยอาหาร (food web) โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

1. ปะการังเทียม เพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติด และเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง

สำหรับสิ่งมีชีวิตเกาะติดจำพวก ปะการัง สาหร่าย หอยนางรม สัตว์หน้าดินที่ยึดเกาะกับวัสดุต่างๆ หรือตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่หน้าตัดแบนราบ หรือมีพื้นที่ว่างสำหรับการยึดเกาะ และมีส่วนโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น มีลักษณะที่เป็นซอก เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิต ที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนั้น

2. ปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลา

นิยมสร้างให้มีโครงสร้างค่อนข้างซับซ้อน เช่น สร้างให้มีรูกลวงอยู่ตรงกลางของตัวปะการังเทียม เนื่องจากพวกปลาสามารถเข้าไปอยู่อาศัย หรือใช้เป็นที่หลบภัยจากผู้ล่าในบริเวณนั้นได้ โดยปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ

  • ปลาที่เข้าอาศัยตั้งแต่บริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ได้แก่ กลุ่มปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาอินทรี ปลาซาร์ดีน และโลมา โดยมักจะพบอยู่ห่างจากกองวัสดุที่ใช้ล่อปลา
  • ปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณพื้นทะเลใกล้กองวัสดุ ได้แก่ กลุ่มปลาหมูสี ปลากะพง ปลาลิ้นหมา
  • ปลาที่เข้าอาศัยอยู่เป็นประจำ ได้แก่ กลุ่มปลา Cabezon ปลา Rock trout ปลาไหลทะเล ปลาบู่ และปลากระบี่ เป็นต้น โดยมักพบอยู่ใกล้กับกองวัสดุ 

3. ปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว

นอกจากการจัดวางปะการังเทียมจะมีประโยชน์ในด้านการประมงแล้ว ในบางบริเวณยังให้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง เช่น เรือจม เครื่องบินจม หรือแม้แต่การสร้างสถาปัตยกรรมใต้น้ำ

นอกจากนี้ ถ้าในบริเวณที่มีปะการังเทียมวางอยู่ มีสภาพแวดล้อมเอื้อกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง และเมื่อปะการังที่ลงเกาะเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้มีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอาศัยมากขึ้น และเกิดความสวยงามไม่แพ้แนวปะการังธรรมชาติ

ประโยชน์ของแนวปะการังเทียม

ปะการังเทียมนั้นมีประโยชน์ในหลายด้าน ดังนี้

  • เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล เนื่องจากแนวปะการังเทียม เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายชนิด ช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์แนวปะการังธรรมชาติที่เสียหาย หรือหมดสิ้นไปได้ และยังเป็นแหล่งทดแทนประชากรสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ปลา สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ
  • เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยทั่วไปบริเวณปะการังเทียม จะมีความหลากหลายของปลาวัยอ่อนมากกว่าในบริเวณทะเลเปิด
  • ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และความเสียหายจากพายุ โดยแนวปะการังจะช่วยกระจายพลังงานคลื่น ปกป้องแนวชายฝั่ง และลดผลกระทบของพายุต่อชุมชนชายฝั่งให้เหลือน้อยที่สุด
  • ส่งเสริมการวิจัยและการศึกษา เนื่องจากแนวปะการังเทียม เป็นสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย จึงทำให้มีการศึกษาชีวิตทางทะเล พลวัตของระบบนิเวศ และผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ในมหาสมุทร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทางทะเลด้วย
  • พื้นที่ตกปลาทางเลือก การวางแนวปะการังเทียม ทำให้ช่วยลดแรงกดดันต่อพื้นที่ตกปลาตามธรรมชาติได้ ทำให้เกิดการตกปลาอย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยในการเติมเต็มประชากรปลา
  • เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวปะการังเทียมสร้างสถานที่ใหม่ ให้ผู้ชื่นชอบการดำน้ำและดำน้ำตื้นได้สำรวจ พวกเขาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำ ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แนวทางการอนุรักษ์แนวปะการังเทียม

การอนุรักษ์แนวปะการังเทียม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับรองประสิทธิภาพและความยั่งยืนในระยะยาว มาตรการอนุรักษ์บางประการ มีดังนี้

  1. ตรวจสอบและบำรุงรักษาแนวปะการังเทียมเป็นประจำ เพื่อกำจัดเศษซาก ป้องกันการเปรอะเปื้อน และรับประกันความสมบูรณ์ของโครงสร้าง
  2. การตรวจสอบสุขภาพของระบบนิเวศ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของแนวปะการังเทียม รวมถึงการประเมินคุณภาพน้ำ ติดตามการเปลี่ยนแปลงในความหลากหลายทางชีวภาพ และศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์
  3. ตกปลาอย่างมีความรับผิดชอบ โดยสร้างกฎระเบียบ เพื่อป้องกันการตกปลามากเกินไป และการทำลายล้างรอบแนวปะการังเทียม
  4. ให้ความรู้แก่ชุมชน นักท่องเที่ยว และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับความสำคัญของแนวปะการังเทียม และการอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ให้สามารถช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลอันมีคุณค่าเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม "แนวปะการังเทียม" ก็เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อทดแทนและเติมเต็ม "ปะการัง" ตามธรรมชาติ ที่ถูกรุกรานและเสื่อมโทรมลงเท่านั้น คงไม่อาจจะบอกได้ว่าจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่า หรือสามารถทดแทนกันได้ทุกประการ

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ ต้องตระหนักถึงความสำคัญแนวปะการังเดิม และร่วมกันอนุรักษ์แนวปะการังเทียมอย่างแข็งขัน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาของมหาสมุทรให้คงอยู่ตลอดไป.

ขอบคุณข้อมูลจาก คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |