• Future Perfect
  • Articles
  • ปัจจัยและความท้าทายใน "ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย"

ปัจจัยและความท้าทายใน "ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย"

Sustainability

ความยั่งยืน26 ต.ค. 2566 09:30 น.
  • ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย รับผิดชอบโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2555 มีภาคอุตสาหกรรม นำร่องเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 สาขา
  • "วิจัยกรุงศรี" โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่าทิศทางตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่ด้วยความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย มีแนวโน้มอยู่ในภาวะขาดแคลนอุปทานได้ในอนาคต

ก่อนหน้านี้ เราเคยพาไปทำความรู้จักกับ "คาร์บอนเครดิต" มาแล้ว ซึ่งหากจะอธิบายให้กระชับ "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปริมาณนั้นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ และสามารถนำไปซื้อขายระหว่างผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนและผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ จึงเกิดเป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอนลง

ซึ่งโดยทั่วไป คาร์บอนเครดิต จะมาจากโครงการ 2 ประเภท ได้แก่ 1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้พลังงานทดแทน การจัดการของเสีย ฯลฯ 2. การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บคาร์บอน และการปลูกป่า โดยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ จะต้องได้รับการรับรองเป็นคาร์บอนเครดิตก่อน จึงจะสามารถนำไปขายให้แก่ผู้ที่ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ 

ตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก

รายงานของ "วิจัยกรุงศรี" โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้พูดถึงสถานะตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก โดยอ้างรายงานของ State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลกว่า  ปริมาณคาร์บอนเครดิตทั่วโลก มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในช่วงปี 2561-2565 อยู่ที่ 475 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สอดคล้องกับปัจจุบัน ที่หลายประเทศทั่วโลกได้จัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิตขึ้นภายในประเทศ โดยมักจะดำเนินการร่วมกับระบบภาษีคาร์บอน (ETS)

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเอง อย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็ได้เริ่มดำเนินการกลไกลตลาดคาร์บอนเครดิต เช่นเดียวกับ อินเดีย ที่กำลังผ่านกฎหมายเพื่อจัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิต รวมถึงกลไกระบบภาษีคาร์บอนในประเทศด้วย

อย่างไรก็ดี คาร์บอนเครดิตจากพลังงานทดแทนอาจมีความสำคัญลดลง เมื่อต้นทุนของการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนในองค์กรมีแนวโน้มต่ำลง ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ลงทุนด้านพลังงานทดแทนเอง แทนการซื้อคาร์บอนเครดิต ในทางกลับกัน คาร์บอนเครดิตจากการดูดกลับและกักเก็บโดยธรรมชาติ มีแนวโน้มจะได้รับความสำคัญมากขึ้น

ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย ไปถึงไหนแล้ว

เมื่อพูดถึงตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย ซึ่งรับผิดชอบโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2555 รับผิดชอบ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานต่างประเทศ และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา มีภาคอุตสาหกรรม นำร่องเข้าร่วมโครงการ 10 สาขา ได้แก่ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เยื่อและกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม พลาสติก โรงกลั่นปิโตรเลียม แก้วและกระจก เซรามิก และสิ่งทอ

สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดในตลาดคาร์บอนของไทย คือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ซึ่ง อบก. เป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียน และรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการ โดยโครงการแต่ละประเภทจะมีมาตรฐานการคำนวณคาร์บอนเครดิตที่แตกต่างกัน เช่น โครงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ฯลฯ จะมีระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิต 10 ปี ส่วนโครงการทั่วไป จะมีระยะเวลาคิดเครดิต 7 ปี

และเมื่อคาร์บอนเครดิตได้รับการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อบก. แล้ว ก็จะสามารถนำไปซื้อขายผ่านตลาดคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการซื้อขายในไทย แบ่งออกเป็น การตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Over the Counter: OTC) ซึ่งสามารถถ่ายโอนเครดิตระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายผ่านการจัดทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต และ การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มหรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดหลักทรัพย์ในการจับคู่ราคาซื้อและราคาขายที่ตรงกันโดยอัตโนมัติ

ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย ต้องยอมรับว่า ยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ T-VER ต่างๆ โดยในปี 2565 มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 4.7 MtCO2e แต่ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ราว 1.2 MtCO2e หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2565 ที่มีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากในปีดังกล่าว กระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมแพร่หลายและเด่นชัดขึ้น จากการประกาศเป้าหมายความยั่งยืนที่ท้าทายขึ้นของประเทศไทย บนเวที COP26 รวมถึงองค์กรจากภาคธุรกิจต่างๆ ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นการทางคาร์บอน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระดับองค์กรมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อกักตุนในช่วงที่ราคาซื้อขายยังไม่ขยายตัวสูงมากนัก

ทว่า 8 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตลดลงจากปี 2565 แต่ก็ยังสูงกว่าปี 2564 ทั้งปีกว่าสองเท่า สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณการซื้อขายเริ่มเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน

ด้านราคา ในปี 2565 ราคาเฉลี่ยของคาร์บอนเครดิตของไทยอยู่ที่ 108 บาท/tCO2e ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เนื่องจากรายงานของ State and Trends in Carbon Pricing 2023 โดยธนาคารโลก ระบุว่า คาร์บอนเครดิตที่มาจากการดูดกลับโดยธรรมชาติหรือเทคโนโลยีต่างๆ มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 500-700 บาท/tCO2e ส่วนเครดิตจากโครงการพลังงานทดแทนมีราคาเฉลี่ย 170-350 บาท/tCO2e ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาเฉลี่ยของคาร์บอนเครดิตของไทยยังต่ำนั้น มาจากกลไกภาคสมัครใจซึ่งต่างจากหลายๆ ประเทศ 

ขณะที่ประเภทโครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาดีที่สุดในไทย คือ การปลูกป่า เนื่องจากเป็นโครงการที่ลงทุนสูง แต่สามารถให้เครดิตในระยะยาวได้ โดยมีราคาสูงสุดถึง 2,000 บาท/tCO2e ในปี 2565 แต่เครดิตจากโครงการปลูกป่ายังมีการซื้อขายไม่มาก เมื่อเทียบกับโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ และแสงอาทิตย์ 

ปัจจัยสนับสนุนและความท้าทาย ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย

วิจัยกรุงศรี มองว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยนั้น ได้แก่

  • การตั้งเป้าหมายความยั่งยืนระดับประเทศและระดับองค์กร

ซึ่งประเทศไทยเอง มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2593 และ Net Zero ในปี 2608 โดยการจะบรรลุเป้าหมายได้ ไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงพร้อมๆ กับเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของไทยให้เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศในปี 2580 เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก

  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว
  • การขยายตัวของอุปสงค์และอุปทานคาร์บอนเครดิต

ส่วนทิศทางตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย วิจัยกรุงศรี มองว่า ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในด้านอุปสงค์ อบก. ประมาณการว่าความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยจะอยู่ที่ราว 182-197 MtCO2e/ปี ในปี 2573 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการชดเชยคาร์บอนขององค์กรต่างๆ ทั้งในภาคพลังงาน การเงิน การท่องเที่ยว ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยมีแนวโน้มอยู่ในภาวะขาดแคลนอุปทาน (Supply Shortage) ในอนาคต สะท้อนจากปริมาณคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2573 อยู่ที่เพียง 6.86 MtCO2e/ปี เนื่องจากข้อจำกัดด้านต้นทุนที่สูงของโครงการคาร์บอนเครดิต ที่เป็นอุปสรรคของผู้เล่นที่ไม่ใช่รายใหญ่ และต้องใช้เงินลงทุนสูง ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ การกำกับดูแลราคาที่เหมาะสมที่ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขาย ยังเป็นช่องว่าง ที่อาจทำให้ผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตยังไม่ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดด้วย.

ที่มาจาก วิจัยกรุงศรี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 

SHARE
03:41

ดราม่า! รถบรรทุกขนของช่วยน้ำท่วมไม่ได้ไปต่อ โดนจับคาด่านชั่งเพราะน้ำหนักเกิน

Follow us

  • |