- "วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ" กำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของ "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"
- ต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม/ปี
จุดเริ่มต้นของ "วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ" หรือ "วันรักต้นไม้แห่งชาติ" หรือ "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" (National Annual Tree Care Day) ถือกำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า" ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติโดยทรงปลูกและบำรุงต้นไม้ด้วยพระองค์มาโดยตลอด และทรงให้ความสำคัญของการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกว่ามีความสำคัญและน่าเป็นห่วงมากกว่าการปลูก
ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงงานพัฒนาชนบทของประเทศไทยโดยเฉพาะการฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ วันพระราชสมภพของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ" ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2533 อนุมัติในหลักการโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปดำเนินการระดมความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไป เพื่อเสนอชื่อที่เหมาะสม
ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับไปดำเนินการแล้ว ปรากฏว่าชื่อที่เหมาะสมคือ "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้ว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533 เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสแสดงความเสียสละแรงกาย แรงใจ ความสามัคคีน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยการร่วมกันบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามสถานที่ต่างๆ อันเป็นช่วงปลายฤดูฝนของทุกปี โดยมีจุดหมายคือ
1. เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้ รวมทั้งปลูกซ่อมต้นไม้ที่ตายให้เจริญเติบโต ปกคลุมพื้นดินโดยรวดเร็ว
2. เพื่อชี้นำหรือแนะแนวให้ประชาชนได้ร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมกันบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ โดยการให้ปุ๋ย พรวนดิน ถากถางวัชพืชที่โคนต้นไม้ หรืออื่นๆ โดยพร้อมเพรียงกัน
3. เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ของการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลู่ไว้ในบ้าน สถานที่สาธารณะ และในเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะบรรลุวัตถุประสงค์การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวไว้ได้
4. เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา โดยเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยพร้อมเพรียงกันในวันนี้
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงความสำคัญของ "ต้นไม้" ถือเป็นตัวช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศบนโลกใบนี้ ซึ่งเมื่อต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้ว จะนำคาร์บอนฯ ที่ได้ไปเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ใบ หรือแม้กระทั่งราก
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ต้นไม้ 1 ต้นนั้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม/ปี ทั้งยังช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี ซึ่งศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนฯ ของต้นไม้นั้น ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของต้นไม้ และปัจจัยแวดล้อม หากปลูกบนพื้นที่ที่เหมาะสมกับชนิดของพืชนั้นๆ ก็จะทำให้ต้นไม้กักเก็บคาร์บอนฯ ได้ดีอีกด้วย.