• Future Perfect
  • Articles
  • เหลียวหลังฝ่าวิกฤติโลก ยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

เหลียวหลังฝ่าวิกฤติโลก ยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

Sustainability

ความยั่งยืน21 ต.ค. 2566 06:01 น.

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา “ทั่วโลก” มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมบนชั้นบรรยากาศ “ก่อสภาวะโลกร้อน” ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสุดขั้วมาจนถึงทุกวันนี้

สังเกตได้จากปรากฏการณ์ “การเกิดภัยพิบัติ” มีแนวโน้มรุนแรงทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุเฮอริเคน และคลื่นความร้อนมักเกิดขึ้นบ่อยถี่ผิดไปจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” ที่มีรายงานของ Global Climate Risk 2021 เป็นประเทศเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

ทำให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ “การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งหามาตรการแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าเน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อันมีเป้าหมายพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในปี ค.ศ.2050 “บรรลุเป้าหมายปล่อยเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065” เริ่มลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ปี ค.ศ.2030 ด้วยการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนว่า รอบปีที่ผ่านมาในแง่วิวัฒนาการของมนุษย์มีเรื่องที่น่าชื่นชมในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่มีขึ้นมาใหม่มากมาย

แล้วก็มาพร้อมกับ “ความเจริญก้าวหน้าทางโลกอินเตอร์เน็ต” ที่กำลังถูกใช้กันอย่างเพลิดเพลินจนลืมตัว “ลูกของหลายคน” ต่างมุ่งอยู่แต่หน้าจอโทรศัพท์แชตคุยกันผ่านออนไลน์ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเย็นโดยไม่สนใจคนรอบข้าง ทำให้พ่อแม่ได้แค่ “บ่นต่อว่า” แต่กลับไม่ค้นหาวิธีแก้ไขผลกระทบของความเจริญรุ่งเรืองที่รวดเร็วนั้น

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ถ้าเหลียวหลังกลับมามองดู “ชีวิตคนเรา” มักเกิดมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ หรือธรรมชาติ แล้วเมื่อเร็วๆนี้ภายในประเทศก็กำลังเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรงอย่างกรณี “แม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านประชาชน” ส่งผลกระทบชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ “เพราะมีน้ำเหนือไหลมาสมทบต่อเนื่อง” แต่สิ่งที่ปรากฏนี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี

เพราะเท่าที่เคยติดตามถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท “พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” มายาวนานเป็นระยะเวลา 35 ปี สำหรับน้ำท่วมก็ยังเกิดขึ้น “ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์แปลกประหลาดอะไร” เพราะเราไม่สามารถหาวิธีทางแก้ไขเอาชนะธรรมชาติลงได้

แม้แต่หากมองไกลไปอีกฟากโลกเวลาเดียวกัน “รัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯกำลังเผชิญน้ำท่วมหนัก” ส่งผลกระทบการสัญจรทำให้ภาครัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรับมือเร่งด่วน แล้วเมื่อต้นปี “สหรัฐฯ แคนาดา กรีซ โปรตุเกส อิตาลี” ก็เจอกับไฟป่าอย่างรุนแรงจนสร้างความเสียหายไปกว่าแสนเอเคอร์

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “แม้เป็นประเทศพัฒนาทางระบบเทคโนโลยีชั้นสูงมากกว่าประเทศไทยหลายพันเท่า” แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการเพื่อที่จะเอาชนะจากธรรมชาติไปได้

ทว่าสิ่งที่น่าวิตกกว่านั้นคือ “ปัจจัยแห่งชีวิตจากดิน น้ำ ลม ไฟ” กำลังถูกทำลายลงอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ “ขณะที่จำนวนคนต้องพึ่งพาปัจจัยแห่งชีวิตนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” แต่ถ้าหากย้อนไปดูในครึ่งศตวรรษที่แล้วจำได้ว่าตัวเองอายุ 14-15 ปี ในสมัยนั้น “ประเทศไทย” มีประชาชนประมาณ 17 ล้านคน

“เมื่อเวลาผ่านมา 70 ปี ประชากรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ภูมิประเทศยังมีขนาดเท่าเดิม แล้วยิ่งกว่านั้นทรัพยากรธรรมชาติกลับถูกทำลายลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำ ลำธาร และผืนป่าที่กลายเป็นเขาหัวโล้นเต็มไปหมด แต่สิ่งนี้ล้วนเป็นทรัพย์สินที่จะมาช่วยหล่อเลี้ยงและรักษาชีวิตมนุษย์ให้ดำรงต่อไปได้” ดร.สุเมธว่า

ตอกย้ำด้วย “ทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมีจำกัด” ทำให้หลายคนต่างพากันแก่งแย่งชิงกัน นำมาซึ่งคำว่า “มนุษย์เป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ อากาศ น้ำ และดิน” จนปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และสูญเสียสภาพที่อาจทำให้ระบบนิเวศแตกสลายจนไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะสมดุลได้อย่างเดิม

ดังนั้นทุกคนต้องยกปัญหานี้ขึ้นมา “หาทางออกและลงมือปฏิบัติแก้ไข” อย่างมีจิตสำนึกด้วยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่เป็นศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงใช้เป็นวิธีการทรงงานมาตลอดรัชสมัย

ถัดมาคือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในเรื่องนี้ปี 2542 ทรงพระราชทานคำจำกัดความไว้ 13 บรรทัด คือ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปทางสายกลาง

โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ “เพื่อก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์” ในความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อการกระทบใดๆ “อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก” ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวังในการนำวิชาการต่างๆ

มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และรอบคอบ

เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับ “การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม” จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเป็นที่น่าชื่นชมสำหรับ “คนไทยในการรับมือการระบาดโควิด–19” จนสามารถปรับตัวกลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็วกว่าหลายประเทศ

ทว่าสำหรับ “การรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้น” ต้องปรับตัวไว้ก่อนล่วงหน้าโดยใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข กล่าวคือ “ความพอประมาณ” ในการทำสิ่งใดต้องสำรวจทุนกายภาพ ทุนทรัพย์ และทุนปัญญา เพราะทุนเหล่านี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน “ขึ้นอยู่กับระดับฐานะ” ดังนั้นการจะทำอะไรต้องคำนึงทุนของตัวเองที่มีอยู่เสมอ

ตามมาด้วย “ความมีเหตุผล” การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อทำให้ “มีภูมิคุ้มกัน” เพราะทุกจังหวะก้าวเดินล้วนมีความเสี่ยง “ต้องไม่ประมาท” ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ในส่วน 2 เงื่อนไข คือ “องค์ความรู้” ความรอบรู้ ความรอบด้าน และความรอบคอบ สามารถนำมาพิจารณาประกอบการวางแผนให้ระมัดระวังการปฏิบัติ “คุณธรรม” อย่าโกหก โดยเฉพาะต้องไม่ทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งนี้คือเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้จากการติดตาม “ในหลวงรัชกาลที่ 9” จนมีโอกาสศึกษาเรียนรู้มาตลอดระยะเวลา 35 ปี

ดังนั้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะสร้างความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน แล้วในการสร้างความยั่งยืนได้ดีถูกต้องเราจะคิดถึงแต่ผลประโยชน์ไม่ได้ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เคยตรัสไว้ว่า...เราต้องทำเพื่อประโยชน์สุข ไม่ใช่ความมั่งคั่งร่ำรวย ถ้ายึดประโยชน์เป็นหลักจึงจะสร้างความสุข ถ้าคนทั้งโลกหันกลับมามองตรงนี้ทั้งโลกจะรอด

สุดท้ายนี้ “ภารกิจของเราจำเป็นต้องรักษาโลกใบนี้” เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานของเรา เพราะถ้าเราใช้ทรัพยากรจนหมดในวันนี้ลูกหลานในอนาคตจะอยู่กันอย่างไร เช่น สมัยตอนเด็กเคยเห็นแม่น้ำเพชรบุรีเป็นแหล่งน้ำที่ใสสะอาดสามารถใช้ชีวิตอยู่กับน้ำมาตลอด แต่วันนี้เมื่อไปเจออีกครั้งแทบไม่กล้าหย่อนเท้าลงแล้วด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้คือ “การถอดรหัสความยั่งยืนทุกมิติ” ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยสร้างเสริมให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน เพื่อในวันข้างหน้าลูกหลานเราจะมีโลกที่สดใสน่าอยู่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |