• Future Perfect
  • Articles
  • World Food Day 2023 แนะ 3 วิธีลด "ขยะอาหาร" ต้นเหตุปัญหาโลกรวน

World Food Day 2023 แนะ 3 วิธีลด "ขยะอาหาร" ต้นเหตุปัญหาโลกรวน

Sustainability

ความยั่งยืน19 ต.ค. 2566 16:18 น.

ชวนคนไทยปรับพฤติกรรมด้วย 3 วิธีทำได้ง่ายๆ ช่วย "ลดขยะอาหาร" (Food Waste) หนึ่งในต้นเหตุของปัญหาโลกรวน

วันที่ 19 ตุลาคม 2556 มีรายงานว่า เนื่องในวัน World Food Day 2023 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันอาหารโลก" เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงปัญหา "ความอดอยาก" และร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งได้มีภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างออกมารณรงค์ถึงปัญหาขยะอาหาร

โดยทาง foodpanda ได้ชวนคนไทยตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) จึงชวนคนไทยปรับพฤติกรรมด้วย 3 วิธีสุดสมาร์ท ที่ทำได้ง่ายๆ และเริ่มได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น Shop Smarter, Cook Smarter และ Eat Smarter สู่เป้าหมายลดขยะอาหารที่เกิดขึ้นปีละ 1,300 ล้านตันทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาโลกรวน (Climate Change) ให้ได้มากที่สุด

สำหรับปัญหา Climate Change ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่สิ่งไกลตัวคนไทยอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศในอันดับ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) ระหว่างปี 2010-2019 จากการจัดอันดับของ Global Climate Risk Index ปี 2021 ที่ผ่านมา

และหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของ Climate Change ก็คือปัญหา "ขยะอาหาร" ที่ทำให้เกิดการฝังกลบ กระบวนการที่ทำให้การเกิด "ก๊าซมีเทน" ก๊าซอันตรายที่ทำลายโลกมากกว่า "คาร์บอนไดออกไซด์" หลายเท่าตัวดังนั้นการลดขยะอาหารจึงเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่สามารถทำได้เพื่อช่วยโลกของเรา

ข้อมูลจาก WWF (World Wide Fund for Nature) ระบุว่ากระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงจานอาหารของเรานั้นมีอาหารสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ที่ต้องกลายเป็นขยะอาหาร คิดเป็นน้ำหนักมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยที่มีประชากร 66 ล้านคน แต่ละคนสร้างขยะอาหารกันปีละ 145 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ดังนั้นเพื่อลดปริมาณขยะอาหารลงให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2030 ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) คนไทยจะต้องลดปริมาณขยะอาหารลงให้เหลืออย่างน้อย 70-72 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดย 3 วิธีลดอาหารขยะ มีดังนี้

1. Shop Smarter – ซื้ออย่างไรไม่ให้เหลือทิ้ง

การวางแผนล่วงหน้าสำหรับอาหารแต่ละมื้อในอีก 2-3 วันข้างหน้า จะช่วยให้การซื้อของทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะมีของเหลือทิ้งลงได้มาก ลองจดบันทึกเก็บสถิติอาหารที่ใช้และอาหารที่ต้องทิ้งในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาดูก็จะทำให้รู้ว่าการไปซุปเปอร์ครั้งต่อไปจะต้องซื้อแค่ไหนถึงจะพอดี

ที่สำคัญไม่ต้องซื้อของเผื่อแบบทั้งอาทิตย์เพราะของสดส่วนใหญ่จะเสียภายใน 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่หากจะต้อง "ซื้อเผื่อ" ก็เลือกของที่มีอายุยืนยาว เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง หรือเนื้อที่สามารถเข้าช่องแช่แข็งได้เท่านั้น 

อีกวิธีที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือการซื้อของเพื่อทำอาหารกับของที่เหลือในตู้เย็นเช่น กะหล่ำปลีครึ่งลูก หรือหมูสับที่เหลือจากมื้อก่อนเพื่อใช้ของที่เหลือให้มีคุณค่าสูงสุด ส่วนเวลาซื้อของที่ซุปเปอร์หรือที่ตลาดลองเปลี่ยนความคิด เลือกของที่อาจจะดูหน้าตาไม่สวยแต่ให้คุณค่าทางโภชนาการเท่ากัน แถมยังมีราคาที่ถูกกว่า ก็ดูจะช่วยลดขยะอาหารลงได้มาก

นอกจากนี้อย่าลืมทำความเข้าใจ "ฉลาก" ให้ดี เช่น วัน "Best Before" ที่ไม่ใช่วันหมดอายุแต่หมายความว่าผู้ผลิตมองว่าหากพ้นวันนั้นไปแล้วอาหารจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ "ดีที่สุด" แต่ยังสามารถรับประทานได้อยู่ดังนั้นหากเก็บอาหารพ้นวัน Best Before ไปแล้ว 1-2 วันก็อย่างเพิ่งทิ้งเพราะยังสามารถนำมากินได้เป็นต้น

2. Cook Smarter – คิดก่อนทำใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า

เรื่องนี้เริ่มต้นได้ตั้งแต่การเก็บวัตถุดิบที่เราจะต้องเก็บให้ถูกวิธี เช่น ผักหรือผลไม้บางอย่างจะมีอายุยืนยาวกว่าถ้าไม่เก็บในตู้เย็น เช่น หัวหอม กล้วย หรือ มันเทศ นอกจากนี้การแช่แข็งเนื้อ หมู หรืออาหารทะเล ควรแยกแช่เป็นสัดส่วนแต่พอกิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องละลายน้ำแข็งในส่วนที่เกินมาและทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง

นอกจากนี้เรื่องพื้นฐานของการ Cook Smarter ที่แนะนำให้ทำ คือ การทำอาหารแต่พอกินให้อิ่มไม่เหลือทิ้ง และทำอาหารจากสิ่งที่เหลืออยู่ในตู้เย็นให้ได้มากที่สุด ผักผลไม้บางอย่างแม้จะดูไม่น่ากินแล้วยังสามารถนำไปใช้ทำอาหารหลายๆ อย่างได้ เช่น กล้วยที่สุกงอมจนเปลือกดำแล้วยังสามารถนำไปใช้ทำขนมหรือทำเค้กได้ หรือวัตถุดิบบางอย่างที่ปกติแล้วจะทิ้งก็สามารถนำมาทำเมนูอร่อยๆ ได้ เช่น เปลือกแตงโมเชื่อม เปลือกส้มโอตากแห้ง หรือแม้แต่ หัวกุ้ง คางกุ้ง เปลือกกุ้ง ก็นำไปแปรรูปประกอบอาหารอีกหลายเมนูที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน

3. Eat Smarter – กินให้หมด เหลือแช่แข็ง แบ่งบริจาค

หากมีอาหารเหลือเยอะอย่ากลัวที่จะใส่ช่องแช่แข็งเพื่อเอาไว้กินในมื้อต่อไป อย่างไรก็ตามทุกอย่างไม่ได้เป็นอมตะเสมอไปเมื่ออยู่ในช่องแช่แข็ง ดังนั้นอย่าลืมแปะวันที่ที่เราแช่อาหารทุกอย่างเอาไว้เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ในกรณีที่กินอาหารที่ร้านอาหารนึกเสมอว่าหากกินไม่หมด อย่าลืมขอใส่กล่องกลับบ้าน หรือถ้าอาหารเหลือเยอะมากๆ โดยเฉพาะอาหารหรือของเบรกจากงานอีเวนต์ ทางเลือกในการบริจาคให้กับคนรายได้น้อย หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

ทั้ง 3 วิธีการนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ และเริ่มต้นทำได้ทันทีเพื่อลดขยะอาหารที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวนอย่างทุกวันนี้ หรือถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นเมื่อไหร่ก็ใช้โอกาสเดือนตุลาคมนี้ ที่เพิ่งผ่านวัน World Food Day 2023 ไปหมาดๆ โดยสามารถร่วมลงชื่อเข้าร่วมลดขยะอาหารในแคมเปญ "SAVE 1/3" กับ WWF ได้ ที่นี่ หรืออย่างน้อยเริ่มต้นได้ด้วยการกดไม่รับช้อนส้อมทุกครั้งที่สั่งอาหารเดลิเวอรี่.

SHARE
02:26

นาทีช็อก! “หนุ่มจีน” ลื่นตกหน้าผา ระหว่างเดินป่าฝนตก กล้อง 360 องศา จับภาพนาทีเฉียดตายไว้ได้

Follow us

  • |