การแย่งชิงทรัพยากรน้ำจืดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความรุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของภูมิภาค จนอาจทำให้ประชากรหลายล้านคนเข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร และเจอกับภาวะราคาแพง เนื่องจากกว่า 90% ของน้ำจืดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถูกใช้ไปกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่ใช้น้ำจืดในภาคการเกษตร 75% ขณะเดียวกัน 3 ส่วน 4 ของแหล่งน้ำจืดในภูมิภาคเผชิญความไม่แน่นอน ทำให้ประชากร 90% มีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤติน้ำ
ความต้องการน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นนี้ มีสาเหตุจาก จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของเมือง และการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำจำนวนมากขึ้น ในขณะที่น้ำจืดกำลังมีปริมาณลดลง อีกทั้งมลพิษของน้ำมีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลต่อแหล่งน้ำจืด
ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบทั้งในด้านการเกิดขึ้นของแหล่งน้ำ คุณภาพ และเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำจืด นอกจากนั้น ภาวะฝนตกรุนแรง น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความั่นคงของแหล่งน้ำจืดในภูมิภาค และความปลอดภัยสำหรับใช้ดื่ม สุขอนามัย และการผลิตอาหารอีกด้วย
สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญของโลก กำลังพยายามร่วมกันหาวิธีรับมือกับเกิดวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และเนื่องในวันอาหารโลกประจำปี 2566 (World Food Day 2023) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่มีการจัดงาน ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กรุงเทพฯ ได้มีผู้เชี่ยวชาญสะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ พร้อมแนะวิธีรับมือ ที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมที่ต้องช่วยกัน
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานเปิดงาน และในฐานะทรงเป็นทูตสันถวไมตรีของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO) ทรงเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากการขาดแคลนน้ำและการดำเนินการระบบการจัดการน้ำที่ดีขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค
พระราชดำรัสตอนหนึ่งมีใจความว่า “ปัจจุบันนี้ ประชากรเกือบ 2,500 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนน้ำ มีการแย่งชิงน้ำ เนื่องจากน้ำจืดลดน้อยลงมาก แต่มีความต้องการใช้ผลิตอาหารมากขึ้น เพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น”
“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้เร่งดำเนินการในด้านนี้ เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องเริ่มปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำที่เรามีอย่างชาญฉลาด เราต้องผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นโดยใช้น้ำน้อยลง และเราต้องทำให้มีการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมเพื่อที่ทุกคนจะได้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน”
จับตาปี 2573 วิกฤติขาดน้ำรุนแรง
ขณะเดียวกัน นายจง จิน คิม (Mr Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนเอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังได้กล่าวในการเปิดงานวันอาหารโลกว่า การสร้างความมั่นคงในการใช้ และเข้าถึงทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องสำคัญต่อภาพรวมของการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
แต่ขณะนี้ทั่วโลกยังห่างไกลจากเป้าหมายมาก เพราะการขาดแคลนน้ำกำลังรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยตามคาดการณ์ ความต้องการใช้น้ำจืดจะมีปริมาณสูงเกินกว่าจำนวนน้ำจืดที่มีอยู่ถึง 40% ภายในปี พ.ศ. 2573
นอกจากนี้แหล่งน้ำใต้ดินซึ่งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรจำนวนมากถูกนำมาใช้มากเกินความพอดี และปนเปื้อน ในขณะที่รูปแบบของฝนตกนั้นมีความแปรปรวน สร้างความไม่แน่นอนในการวางแผนชลประทาน กระทบต่อเกษตรกร ปัญหานี้ผู้วางนโยบาย ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และผู้บริโภคต่างมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกันบรรเทาความไม่สมดุลระหว่างปริมาณน้ำที่มีและการใช้น้ำจืดดังกล่าว
นายคิม ยังกล่าวด้วยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกำลังดำเนินการแก้ปัญหาใหญ่นี้ โดยได้ดำเนินโครงการจัดการการขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Programme) ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดการใช้น้ำให้อยู่ในขอบเขตของความยั่งยืน และเตรียมให้ประเทศในภูมิภาคมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยใช้น้ำน้อยลง นอกจากนี้ FAO ยังได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้แบ่งปันแนวทางในการแก้ปัญหา ความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน
สำหรับสถานการณ์ใช้น้ำในปัจจุบันในภูมิภาคนี้ มีประชากรกว่า 780 ล้านคน ต้องพึ่งพาแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายเขตแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งโครงการ Transboundary Water Programme ของ FAO ทำให้ประเทศต่างๆ พัฒนาความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาค โดยเสริมสร้างความรู้ที่จำเป็น เช่น การจัดทำบัญชีน้ำ การจัดสรรน้ำ การประเมินการไหลของน้ำ การพัฒนากลไกเพื่อบริหารจัดการภัยน้ำท่วมข้ามพรมแดนและการกัดกร่อนดินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการลดแรงกดดันต่อแหล่งน้ำที่ถูกใช้งานมากเกินไป