- ฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาที่วนกลับซ้ำๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี แม้ปัญหานี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังเป็นโจทย์ใหญ่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขในทุกๆ ปี
- ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 กรมควบคุมมลพิษ มีการปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มขึ้น ทำให้ระบบการแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่เวียนมาให้ต้องแก้กันอยู่ทุกปี โดยเฉพาะฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน สำหรับ ฝุ่นละออง PM 2.5 หรือฝุ่นพิษ หรือชื่อเต็มคือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งจากเดิมปัญหา PM 2.5 นี้ จะเป็นปัญหาหนัก กระจุกอยู่ทางภาคเหนือ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในเมืองใหญ่อย่าง "กรุงเทพฯ" เอง ก็เคยติด 1 ใน 5 อันดับเมืองที่มีค่าฝุ่นยอดแย่ของโลกมาแล้ว

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5
หนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมประเทศไทย คือ "สภาพภูมิอากาศ" ความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ การไหลเวียน และถ่ายเทอากาศไม่ดี ฝุ่นควันจึงสะสม ลอยอยู่ในอากาศ
ทั้งนี้ ภาคเหนือ ซึ่งในทุกปีจะมีรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงกว่าทั่วทุกภาคของไทย เป็นเพราะภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เป็นที่รายล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น
นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่นยังเกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง เช่น การเผาในที่โล่งแจ้งในชนบทและในป่า การขนส่ง การผลิตไฟฟ้าและโรงงาน โดยรายงานของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ต้นตอใหญ่ที่สุดของฝุ่น PM 2.5 คือการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร และไฟไหม้ป่า การศึกษาในอดีตระบุว่า การเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 209,937 ตัน เลยทีเดียว รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง
ขณะนี้แหล่งกำเนิดทางอ้อม เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมันในโรงงานอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง เช่นกัน

ส่วนในกรุงเทพฯ เอง กรมควบคุมมลพิษ ได้ทำการศึกษาสัดส่วนแหล่งกำเนิด และองค์ประกอบของฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่า ในช่วงฝุ่นสูง (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) และช่วงฝุ่นน้อย (มีนาคม-เมษายน) มีการจราจรเป็นสาเหตุหลัก รองลงมาก็จะเป็นฝุ่นทุติยภูมิ ฝุ่นขนาดเล็กในบรรยากาศ ฝุ่นดิน และฝุ่นจากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ฝุ่นจากการเผาไหม้ของเสีย และชีวมวล ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ที่ทำให้ฝุ่นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สูงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ด้วย
นอกจากต้นเหตุที่เกิดภายในประเทศแล้ว ยังมีต้นเหตุที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างเช่น เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พร้อมเตือนให้เฝ้าระวังจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดน จากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามาในไทยได้
ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5
ใครเคยเป็นแบบนี้บ้าง วันนี้ดูเหมือนมีฝุ่นเยอะ แต่การแจ้งเตือน กลับไม่พบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน หรือเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้มีการปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ระบบการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง และปฏิบัติตนตามคำแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน Air4Thai

แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
สำหรับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นทุกปี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการให้เตรียมการรับมือแก้ไขหรือจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ทั้งในด้านระบบกลไกการทำงาน ข้อมูล งบประมาณ กฎระเบียบ และการสื่อสาร
ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งสถานีติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วประเทศจำนวน 96 สถานี โดยอยู่ในพื้นที่ กทม. จำนวน 12 สถานี และมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อแจ้งเตือนในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของประชาชน
ขณะที่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า เพื่อการคุ้มครองและดูแลสุขภาพของประชาชนเชิงรุก คพ. ได้สนับสนุนข้อมูลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติในพื้นที่ กทม. ให้กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือในโครงการวิจัยโครงการพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพ จากความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการด้วย คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร และ คพ. โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ
โครงการพัฒนาระบบพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพนี้ จะเป็นระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพล่วงหน้า ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อคาดการณ์ว่า จะมีการเจ็บป่วยของประชาชนจากฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใดล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน ผลที่ได้จากโครงการ จะเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนเชิงรุก และการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลต่างๆ ในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่างทั่วถึง ก่อนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
