• Future Perfect
  • Articles
  • SX2023 พลังคนรักษ์โลก โมเดลธุรกิจสมดุลยั่งยืน

SX2023 พลังคนรักษ์โลก โมเดลธุรกิจสมดุลยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน14 ต.ค. 2566 06:01 น.

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกที่รวดเร็ว “ก่อให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และการเปลี่ยนรูปแบบการกระจายเชื้อโรค” ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งนี้ล้วนมีปัจจัยมาจาก “ก๊าซเรือนกระจก” ที่มีแหล่งกำเนิดของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์แทบทั้งสิ้นทำให้ “ประชาคมโลก” เริ่มตระหนักถึงปัญหาต่างร่วมกันหารือแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น

ก่อนจะพัฒนามาเป็นความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว และฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกรุนแรงนี้ “5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย” ไม่ว่าจะเป็น บ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บ.ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

มุ่งมั่นขับเคลื่อนงาน “ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับประเทศ และระดับโลก” กระทั่งไม่นานมานี้ก็เกิดมหกรรม “SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023)” จากความร่วมมือองค์กรชั้นนำระดับโลกมาร่วมปลุกกระแสความยั่งยืนหลายมิติที่มีแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ผ่านนวัตกรรม โครงการทำสำเร็จในอดีตถึงปัจจุบัน

น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร

ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกมาเป็นแนวทางในการจัดงานครั้งนี้

ทั้งยังเป็นการรวมพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันสร้างทศวรรษแห่งการ “ลงมือทำ” สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) ตามไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของทุกคนผสมผสานความร่วมมือ 100 องค์กร 250 วิทยากร และ 500 เครือข่ายธุรกิจมาร่วมสร้างต้นแบบโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน

“ทีมสกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสร่วมชมมหกรรมครั้งนี้จึงเก็บเรื่องราวกิจกรรมดีๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่าง “นิทรรศการของไทยเบฟฯ” ที่ยกโมเดลนำเสนอแนวทางการพัฒนากำหนดเป้าหมาย และแผนปฏิบัติงานที่ได้รับแรงบันดาลใจความมุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มาเป็นกรอบการทำงานด้านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลยุทธ์บริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ “เพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” เป็นหนึ่งแนวปฏิบัติ ESG แล้วกำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2583

ด้วยการจัดการวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์หลังบริโภคผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ซึ่งมีการนำหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า” ที่มีกลไกนำบรรจุภัณฑ์แก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดพลาสติกไปรีไซเคิลผ่าน บ.ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ที่รับผิดชอบเก็บกลับคืนบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคทำให้ในปี 2565 สามารถปรับน้ำหนักของวัสดุหลายชนิดลดลงมากกว่า 1,000 ตัน

ทั้งขยายไปยังประเภทโพลิเอทิลีนชนิดหนาสูง (HDPE) และเก็บขวดพลาสติก HDPE หลังบริโภคได้ถึง 103 ตัน เพื่อนำมาแปรรูป และตั้งเป้าใช้ขวดซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ rPET 30% การผลิตขวดพลาสติก PET ภายในปี 2573 นี้ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการ ผอ.ใหญ่ไทยเบฟฯ ประธานอำนวยการจัดงาน SX2023 บอกว่า

การขับเคลื่อน SX ใช้ระยะเวลามามากกว่า4 ปีแล้ว โดยความสำคัญที่สุดได้มีบุคคลสำคัญมาบอกเล่า แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการเดินตามรอยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แล้วก็เชื่อว่า “ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนไทยหลายคน” มีส่วนสำคัญในการตอกย้ำการบริหารความยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่น้อมนำเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมานี้

นอกจากนี้ยังมีบริษัทขนาดใหญ่ “จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)” ได้ถูกจัดอันดับชั้นนำของประเทศก็ให้ความสำคัญกับการบริหารอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนของโลกใบนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยร่วมกันทำให้โลกใบนี้สดใสน่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม

โดยเฉพาะพลังความร่วมมือจาก “ทุกภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน” จนทำให้เกิดประโยชน์ที่ดีให้กับสังคมโลก แล้วไม่นานนี้ก็มีโอกาสพบ “บุคคลทำงานเรื่องเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน” อันเป็นจิตอาสาดูแลการขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของพี่น้องชุมชน และนิสิตนักศึกษา พากันมาทำความเข้าใจการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนนี้ด้วย

ภายใต้การนำของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ที่ท่านได้กล่าวเน้นย้ำเสมอในเรื่องการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านส่วนราชการ ภาคเอกชน คณาจารย์ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่ ในการร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ตอกย้ำว่ามหกรรม SX ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นปีที่4 จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2563 เพราะคราวนั้นเป็นแนวทางเดียวกับสหประชาชาติต้องการความร่วมมือจากนานาประเทศ “เน้นให้ในปี 2563-2573 เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ หรือ Decade of Action” ในส่วนประเทศไทยเริ่มพูดคุยกันจากผู้นำภาคเอกชน หรือเครือข่ายต่างๆ

แต่ละคนต่างมองกันว่า “ไม่มีใครชำนาญ หรือเก่งกว่ากัน” เพราะเมื่อก่อนธุรกิจในไทยมีความกว้างขวางเพียงแค่ “การค้าการลงทุนอยู่ในประเทศ” แต่ปัจจุบันขยายเชื่อมโยงทั้งตลาดการค้าอาเซียนเกี่ยวเนื่องถึงอาเซียนบวก 3 อาเซียนบวก 6 อาเซียนบวก 9 รวมถึงประเทศการเจรจาการค้าเสรีใหม่ๆอีกมากมาย

ทำให้ได้มีโอกาสเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจสิ่งที่ถนัดแต่ละคนมารวมพลัง “เพื่อพัฒนาให้สังคม และโลกใบนี้ของเรา” ภายใต้งาน SX2023 ที่เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือขององค์กรชั้นนำระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

มีสิ่งสำคัญในการร่วมกันสร้างพลังและปลุกกระแสด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ “เพื่อสร้างสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า Good Balance, Better World” เพราะการทำอะไรที่ดีสุดโต่งเกินไปมักส่งผลกระทบต่ออีกฝ่ายได้

ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจ “กระตุ้นให้ทุกคนที่อยากมีโอกาสสร้างประโยชน์ให้แก่โลก” เพราะหากมองภาพกว้างในแง่ความร่วมมือทำให้เชื่อมั่นว่า “อนาคตเรายังมีโอกาสจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันอีกตลอด” เพื่อให้เกิดความตระหนักในสิ่งที่เราทำนั้นต้องเกิดประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อภูมิภาค และต่อโลกต่อไป

อย่างไรก็ดีชวนมาคิดกันว่า “ถ้าโลกใบนี้มีข้อตกลงระหว่างสหประชาชาติ และนานาประเทศ” ในการลดโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิสูงมากเกินไปภารกิจรักษ์โลกคงหนีไม่พ้น “ตัวบุคคล” สำหรับกระตุ้นให้ร่วมกันรู้สึกสร้างประโยชน์ให้โลก “โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ” แล้วสร้างระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมพื้นที่สีเขียวที่จำเป็นกับโลก

เพราะแม้ว่าการคิดจะกว้างแค่ไหนสุดท้ายเราต้องกลับมาจุดเล็กที่สุดคือ “เริ่มลงมือทำที่ตัวเราเอง” ดังนั้นผู้นำองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และตัวแทนภาคประชาชน หากมีโอกาสคงได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ “ต่อยอดสามารถระดมพลัง” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกที่สดใสน่าอยู่ในอนาคตนี้

ฉะนั้นเชื่อว่า “SUSTAINABILITY EXPO 2023” จะเป็นเวทีรวมพลังเครือข่ายสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกใบนี้น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

SHARE

Follow us

  • |