- ขยะอันตราย เป็นสิ่งที่ปะปนอยู่รอบๆ ตัวเรา และหากทิ้งไม่ถูกวิธี ขยะอันตรายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อมได้
- ขยะอันตราย หรือขยะพิษ มีอะไรบ้าง แต่ละประเภท มีวิธีการสังเกตอย่างไร
ยังคงอยู่กับเรื่องราวของ "ขยะ" ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนพยายามรณรงค์ให้เกิดการคัดแยก เพื่อให้ขยะเหล่านี้ถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากขยะที่ถูกเทรวมนั้น จะถูกส่งไปพักไว้ที่บ่อขยะ ซึ่งมีข้อมูลว่า ประเทศไทยเอง มีบ่อขยะ มากกว่า 2,200 บ่อทั่วประเทศ ซึ่ง 85% ของบ่อขยะเหล่านี้ มีวิธีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง กลายเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมนุษย์ด้วย
ซึ่งวันนี้เราจะขอพูดถึง ขยะ "อันตราย" หรือ "ขยะพิษ"
ขยะอันตรายคือ อะไร
ขยะอันตราย หรือ ขยะพิษ (Hazardous Waste) หมายถึง ขยะ วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุ/สารอันตราย ที่มีลักษณะเป็นสารพิษ สารไวไฟ สารเคมี ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน สารกัมมันตรังสี และสารที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้
วิธีสังเกตขยะอันตราย
ขยะอันตราย หรือขยะมีพิษ สามารถสังเกตได้จาก ฉลาก หรือสัญลักษณ์ที่ติดบนภาชนะบรรจุ เช่น
สารไวไฟ : ฉลากที่ติดบนบรรจุภัณฑ์ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ทินเนอร์ ผงกำมะถัน
สารมีพิษ : ฉลากที่ติดบนบรรจุภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ สารฆ่าแมลง สารปรอทในหลอดฟลูออเรสเซนต์
สารกัดกร่อน : ฉลากที่ติดบนบรรจุภัณฑ์น้ำกรดในแบตเตอรี่รถยนต์ หรือภาชนะบรรจุน้ำยาทำความสะอาด
นอกจากนี้ ยังสังเกตได้จากสลากที่ระบุคำเตือนข้างบรรจุภัณฑ์ เช่น ห้ามรับประทาน ห้ามเผา อันตราย ฯลฯ
วิธีทิ้งขยะมีพิษ ทิ้งขยะอันตราย
สำหรับขยะมีพิษ หรือขยะอันตราย แต่ละชนิดนั้น จะมีวิธีการทิ้ง การกำจัดที่ต่างกัน ซึ่งควรแยกทิ้งขยะอันตรายอย่างระมัดระวังและปลอดภัย โดยควรจัดเก็บขยะอันตรายในภาชนะบรรจุเดิม เพื่อป้องกันการแตกหัก แต่หากเป็นขยะอันตรายที่เป็นของเหลว ควรแยกประเภท ไม่เทรวมกัน โดยเก็บไว้ในภาชนะที่ไม่รั่วซึม อยู่ในที่ร่ม และให้พ้นมือเด็ก แล้วนำไปทิ้งในภาชนะหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด เพื่อรอการเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างปลอดภัย
ตัวอย่างการทิ้งขยะอันตราย ประเภทต่างๆ
- หลอดไฟ จะต้องคัดแยกหลอดไฟที่เสีย และหลอดไฟที่แตกออกจากกัน หลอดไฟที่แตกให้ใส่ถุงที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือเศษกระดาษห่อหุ้มอย่างหนาแน่น เขียนกำกับข้างถุงให้ชัดเจนว่าเป็นหลอดไฟแตก
ส่วนหลอดไฟที่เสีย หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ให้ใส่เข้าไปในปลอกกระดาษของหลอดไฟที่เราซื้อมาใหม่ จากนั้นทิ้งใน "ถังขยะอันตราย" หรือถ้าไม่มีให้ใส่ถุงแยกไว้ แล้วเขียนว่า ขยะอันตราย - แบตเตอรี่ หรือ ถ่าน ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ให้ทิ้งลง "ถังขยะอันตราย" ได้ทันที หรือนำไปทิ้งไว้ในจุดรับทิ้งถ่านไฟฉาย หรือแบตเตอรี่โดยเฉพาะ
- กระป๋องสเปรย์ หรือ บรรจุภัณฑ์เคมี ในครัวเรือน ให้แยกจากขยะทั่วไปภายในบ้าน หากมีสารระเหยให้ปิดฝาให้เรียบร้อย รวบรวมใส่ถุงขยะและทิ้งลงใน "ถังขยะอันตราย"
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แยกชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะประเภทอื่นออกจากกัน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใส่ในถุงขยะมัดปากถุงให้เรียบร้อย ทิ้งลงใน “ถังขยะอันตราย” หรือในถังขยะที่รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ
ขยะอันตราย ทำร้ายเรา ทำร้ายโลก หากทิ้งไม่ถูกวิธี
สำหรับขยะอันตรายนั้น หากทิ้งไม่ถูกวิธีนอกจากจะเป็นอันตรายต่อโลกแล้ว รู้หรือไม่ว่า มันอาจย้อนมาทำอันตรายกับร่างกายของเราด้วย
เพราะหากทิ้งรวมกับขยะทั่วไป และถูกนำไปกำจัดอย่างผิดวิธี อาจทำให้เกิดสารพิษรั่วไหลลงสู่ดิน แม่น้ำ ธรรมชาติ หรือเกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้
และหากสารพิษของขยะอันตรายเหล่านี้ เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะทางการหายใจ การสัมผัส การกิน อาจก่อให้เกิดอันตราย ตั้งแต่การเกิดผื่นคัน ระคายเคือง ผิวหนังไหม้ หายใจไม่ออก หน้ามืด และเมื่อได้รับสารพิษติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมากเกินไป อาจเกิดการสะสม จนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง อัมพาต ผลต่อทารก หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ซึ่งขยะอันตราย หรือขยะมีพิษเหล่านี้ หลังจากที่เราทำการคัดแยก หรือนำไปทิ้งในที่ที่จัดไว้ให้แล้ว ก็จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
รู้แบบนี้แล้ว หากจะทิ้งขยะอันตรายครั้งต่อไป แยกขยะกันสักนิด.
ข้อมูล : กรมควบคุมมลพิษ