TCP Spirit ลุยต่อ "คณะเศษสร้าง ปี 2" ชูแนวคิด circular economy เรียนรู้การปฏิบัติจริงที่ดอยตุง ตามวิถีชุมชนไร้ขยะ เพื่อโลกที่ยั่งยืน
จากความสำเร็จของ TCP Spirit คณะเศษสร้าง ปี 1 ที่นำอาสาลงพื้นที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำในจังหวัดระนอง เรียนรู้การจัดการขยะทั้งคัดแยก เก็บกลับ รวมถึงแปลงเป็นรายได้ให้ชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายอาสาที่ปลุกพลังคนในชุมชนให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมมือจัดการขยะอย่างจริงจัง
ปัจจุบันสามารถเก็บกลับวัสดุรีไซเคิลได้แล้วกว่า 43 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 200% กลุ่มธุรกิจ TCP จึงเดินหน้าสู่ TCP Spirit "คณะเศษสร้าง ปี 2" แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ มุ่งหน้าสู่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมพลังจัดการ "เศษ" ขยะและ "สร้าง" มูลค่าใหม่ผ่านการลงมือทำแบบครบวงจร พร้อมเรียนรู้ความเชื่อมโยงในระบบนิเวศ เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า โครงการ TCP Spirit เริ่มตั้งปี 2018 ในตอนแรกจะเป็นเรื่องหมอต้นไม้ ทรัพยากรน้ำ ส่วนปีที่แล้วกับปีนี้จะเป็น TCP Spirit "คณะเศษสร้าง" เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งในปีนี้จะเน้นเรื่องการเก็บขยะ คัดแยกขยะ ซึ่งปีที่แล้วเราได้ไปเห็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นบนเกาะ ที่มีการบริการจัดการค่อนข้างลำบากเมื่อเทียบกับที่อยู่บนแผ่นดิน ในปีนี้จึงลงลึกมากขึ้น เมื่อเก็บขยะแล้วเราจะเห็นภาพรวม ดังนั้นอาสาในรุ่นนี้จะเรียนรู้เนื้อหาที่ค่อนข้างแน่น มีการเรียนรู้เรื่อง Butterfly Diagram, Circular Economy เมื่อครบวงจรแล้วก็จะรู้ว่าต้องไปทางไหน หรือต่อยอดอะไรได้บ้าง
ถามว่าวางเป้าหมายไว้อย่างไร เรื่องนี้ต้องพิจารณาเป็นปีต่อปี แต่คิดว่าเรื่อง Circular Economy ยังเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเรื่องขององค์ความรู้ก็ยังเป็นที่ต้องการ เพราะคนอาจจะไม่เข้าใจว่าคำว่า Circular Economy คืออะไร บางคนยังไม่เข้าใจว่าขยะแต่ละชิ้นชนิดแยกอย่างไร ซึ่งพลาสติกมีหลายแบบ มีทั้งพลาสติกใสยืดได้ กับ ยืดไม่ได้ สก๊อตเทปแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังคือ อยากให้อาสาที่เข้ามาร่วมโครงการมีองค์ความรู้ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปลองปรับใช้ในบริบทของตัวเองในแต่ละที่เรื่องเขาสามารถนำไปต่อยอดใช้ได้มากขนาดไหน
สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง
ขณะเดียวกัน เมื่อคนมาเจอกันก็หวังว่าจะเกิดเครือข่าย เพราะว่าเวลาจัดกิจกรรมมีเพียง 1-2 วัน ไม่มีทางที่จะเรียนรู้อะไรทุกอย่างได้ แต่อย่างน้อยถ้าเกิดความเชื่อมโยงกันได้ เมื่อเกิดความสงสัยเรื่องอะไร ก็ยังมีรุ่นพี่ให้สอบถาม เชื่อว่าทุกคนที่มาครั้งนี้ก็มีแนวคิดเดียวกัน เพียงแต่ว่าประสบการณ์และองค์ความรู้ของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน และแม้ว่าจบกิจกรรมนี้ก็คงอาจจะมากน้อยแตกต่างกัน ประกอบกับแต่ละคนก็อยู่กันคนละที่ ดังนั้นสิ่งที่พบเจอจึงไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างคุณหมออยู่โรงพยาบาล จะเจอกับพวกขยะติดเชื้อ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องนี้มาก แต่อย่างน้อยการมาเจอกันก็จะเป็นเครือข่ายที่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
"ดอยตุง" แหล่งเรียนรู้จริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎี
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา กล่าวว่า ส่วนตัวประทับใจดอยตุงมานานแล้ว จากการที่ดอยตุงมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งตนเองก็เพิ่งรู้ว่าที่นี่เป็น Zero Waste ทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงอยากจะมาเรียนรู้เพื่อจะได้เข้าใจและปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎี
ส่วนในปีหน้ายังไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะไปจัดกิจกรรมที่ใด เพราะเรื่องนี้คิดกันปีต่อปี อาจจะต้องดูจากบริบทที่เกิดขึ้นด้วยแล้วก็อาจจะลองดูว่าตัวเพราะจริงๆ TCP Spirit เราเน้นการลงมือทำจริง
เมื่อถามถึงแผนของปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา กล่าวว่า คิดว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่อง "น้ำ" เราทำได้ดี ส่วนเรื่องบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในวันนี้สามารถรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังเหลือบรรจุภัณฑ์กลุ่มขนมขบเคี้ยวอีกไม่มากก็จะครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวซองจะมีความยากเนื่องจากเป็นมัลติเลเยอร์ ตอนนี้กำลังทำงานร่วมกับหลายบริษัทอยู่ก็จะทำให้สำเร็จให้ได้
"ดอยตุงโมเดล" ต้นแบบการพัฒนาครบวงจรเพื่อความยั่งยืน
นายไพศาล คำกาศ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า บริษัทที่เข้ามาดูงานกับดอยตุง ทางเราไม่กำหนดว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งมีบางกลุ่มเจาะจงว่า ต้องการรู้เรื่องการจัดการเศษอาหารเพียงอย่างเดียว หรือบางกลุ่มตั้งเป้ามาว่า ต้องการรู้วิธีการจัดการขยะตั้งแต่ตั้งทาง จนถึงปลายทาง ซึ่งทางเราเตรียมองค์ความรู้แต่ละชุดไว้ให้ หากต้องการรู้ตั้งแต่ต้นจนจบก็จะใช้เวลาเรียนรู้หลักสูตรประมาณ 3 วัน
สาเหตุที่เราแยกขยะ 44 อย่าง เป็นกลุ่มขยะขายได้มี 32 อย่าง ขยะอันตรายมีประมาณ 7-8 อย่าง ขยะพลังงานประมาณ 11-12 อย่าง ซึ่งเราจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ที่สำคัญคือ เรียกว่าเป็นชุดความรู้ หรือ ชุดคู่มือ
นอกจากนี้ได้มีการแบ่งขยะพลังงานแยกย่อยลงไปอีก อย่างเช่น ถุงที่ไม่ยืด เราได้จัดการส่งไปขยะพลังงาน หรือ RDF ส่วนถุงฟอยล์ ถุงขนมต่างๆ จะมีวิธีการนำไปบด ไปทำแผ่นอัดร้อน ส่วนที่ขายไม่ได้อย่างเช่น เศษผ้า เสื้อผ้าต่างๆ ที่เราแยกออกมาแล้วจะทำเป็นเชื้อเพลง หรือมีบริษัทมารับเสื้อผ้าไปทำเป็นรีไซเคิลต่อ ซึ่งหากลงลึกรายละเอียดจริงๆ ขยะต่างๆ ก็จะมีทางไปมากกว่านั้น
Circular Economy ความก้าวหน้าของไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ดร.เพชร มโนปวิตร ครูใหญ่คณะเศษสร้างและนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ กล่าวว่า เรื่อง Circular Economy ภาคเอกชนและบริษัทใหญ่ๆ มีความตื่นตัวที่ดี หากดูในส่วนของ Road Map ของ TCP คิดว่ามีความก้าวหน้า แต่สิ่งที่คิดว่าเมืองไทยยังมีความล้าหลังเมื่อเทียบกับในภูมิภาคคือเรื่องของ "นโยบาย" และกฎหมายที่ชัดเจน เรียกได้ว่าเรากลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่มี พ.ร.บ.เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ชัดเจน
ส่วนตัวรู้สึกว่าในเมื่อมีบริษัทที่ลุกขึ้นมาทำเรื่อง Circular Economy ภาครัฐเองก็ต้องสร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่ว่าบริษัทนี้ทำแล้วก็ทำต่อไป แม้จะมีการส่งเสริมเรื่องของ BCG แต่เรายังไม่มี พ.ร.บ. ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในทางวิชาการก็พยายามผลักดันอยู่ หรือว่าอย่างน้อยให้มี พ.ร.บ.เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และภายใน พ.ร.บ. อาจจะมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น ระบบ EPR (Extended Producer Responsibility) จะช่วยให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ผลิต ทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ไม่ใช่ว่าบริษัททำก็ทำไป ลงทุนก็ลงทุนไป กลายเป็นว่าบริษัทที่ไม่แก้ปัญหาอะไรเลยก็ยังขายได้ นี่เป็นจุดที่ทำให้บ้านเรายังไม่ไปเร็วเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนดูแล้วมีความพร้อม
ในประเทศอาเซียนถือว่า สิงคโปร์มีตัวอย่างรูปแบบเรื่องนี้ที่ชัดเจน หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนามก็มีระบบนี้แล้ว รวมไปถึงระบบ Payments for Ecosystem services (PES) ที่มีการเก็บค่าบริการของคนที่ใช้ทรัพยากร นำรายได้บางส่วนมาช่วยในการเพิ่มต้นทุนดูแลรักษาธรรมชาติก็จะทำให้ไม่ต้องมาเจอกับปัญหา "ไม่มีงบประมาณ ไม่มีคน"
"ผมว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในยุคนี้ ควรจะแก้ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ การบอกให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกแล้วมานั่งแยกขยะ ผมคิดว่าไม่ควร ควรเป็นการจ้างด้วยซ้ำไป ควรเปลี่ยนงานด้านสิ่งแวดล้อมพวกนี้ เป็นการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เราสามารถจ้างงานให้คนทำได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นในงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงแล้งมีต้นทุน แต่บางครั้งเรามองให้เป็นงานอาสา ถ้ามองอย่างนั้นจะกลายเป็นงาน CSR ที่เป็นการทำเป็นครั้งคราว"
ดร.เพชร มโนปวิตร กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการแยกขยะ ที่เราเห็นว่ามีขยะกว่า 40 ประเภท ยังสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในความเป็นจริง ที่จะทำให้ Material กลับเข้าสู่กระบวนการจริงๆ ถ้าเรายังไปกันอย่างนี้ คิดว่าจะเป็นเรื่องยากเหมือนเราแก้ปัญหาไม่ทันกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐต้อง ก้าวไปอีกขั้น
หรือยกตัวอย่างปัญหาในตอนนี้ "แก้วกาแฟ" จะมีหลายหลากหลายวัสดุมาก เพราะฉะนั้นในแง่ของการแยกขยะ หรือการนำไปรีไซเคิลจริงจะยากมาก แต่ถ้ากำหนดไปเลยว่า ให้ใช้วัสดุอย่างเดียวกันสำหรับทุกอุตสาหกรรมหรือว่าแพ็กเกจจิ้งก็จะทำให้ระบบรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวยังรู้สึกว่าถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ จะต้องเริ่มแก้ไขตั้งแต่การออกแบบ การคัดเลือกวัสดุที่นำมาใช้ และถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยก็จะขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น คือให้ทุกคนอยู่ในกติกาเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องอยู่ที่ความตื่นตัวของสาธารณะมาจุดประเด็นด้วย แน่นอนว่าการเปลี่ยนจะมีคนได้ประโยชน์ มีคนเสียประโยชน์ แต่ถ้าเราสร้างการตื่นตัวการรับรู้ของสาธารณะได้จนถึงจุดหนึ่ง คนที่มาเข้าร่วมก็จะทำให้เรื่องเหล่านี้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในวงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
สัดส่วนขยะในแม่ฟ้าหลวง
นายไพศาล เปิดเผยว่า สัดส่วนขยะในแม่ฟ้าหลวง ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์เป็นขยะที่ขายได้ / 50-60 เปอร์เซ็นต์ เป็นย่อยสลายได้ / 2 ปอร์เซ็นต์ เป็นขยะอันตราย / 10-11 ปอร์เซ็นต์เป็นขยะพลังงาน RDF และ 7-8 ปอร์เซ็นต์ เป็นขยะปนเปื้อน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจจะขึ้นลงเล็กน้อย
ส่วนของหมู่บ้านจะแยกเก็บขยะตามวัน ตามประเภทขยะ ยกตัวอย่าง วันจันทร์เก็บขยะเปื้อน วันอังคารเก็บขยะเชื้อเพลิง วันพุธเก็บขยะห้องน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านนำขยะมารวมกัน เป็นการฝึกให้ชาวบ้านแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
ทั้งนี้ทาง อบต.จะไม่มีการจัดเก็บขยะ 2 ประเภท คือ ขยะขายได้ จะให้ชาวบ้านจัดการกันเอง แต่ถ้าชาวบ้านไม่อยากแยกขยะ ก็มีจุดรับบริจาคขยะขายเป็นงบส่วนกลาง และ และขยะอีกประเภทที่ไม่มีการจัดเก็บคือ ขยะที่เป็นเศษอาหาร ซึ่งเราจะโชคดีกว่าในเมือง เพราะเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการเศษอาหารได้ คือการนำไปเป็นอาหารสัตว์ ใส่ถังทำปุ๋ยหมักได้
สร้างขยะได้ ก็ต้องแก้ไขได้
นอกจากนี้เรายังสร้างแรงใจให้กับชาวบ้าน ทุกปีจะมีการประกวดหมู่บ้านปลอดขยะ โดยใช้เกณฑ์ Zero West ระดับประเทศมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินให้แต่ละหมู่บ้าน แล้วก็มีเงินรางวัลให้ โดยมีเกณฑ์ให้ประมาณ 33 ข้อ ข้อละ 3 คะแนน หากอยากได้คะแนนเยอะก็ทำตามเควสที่เราให้ คะแนนเยอะสุดจะได้ 10,000 บาท 7,000 บาท 5,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับ ยอมรับว่าช่วงแรกชาวบ้านอาจคิดว่าการแบกขยะเป็นภาระ แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านแล้ว
"เราคุยกับชาวบ้านว่า เราเป็นคนสร้างขยะ เราก็ต้องเป็นคนแก้ ไม่ใช่หน้าที่ของ อบต. ไม่ใช่หน้าที่ดอยตุง คุณอยู่บนดอยสามารถเดินทางมาที่ตลาด มาถึงในเมืองเชียงราย 50-60 กิโลเมตร สามารถเอามาที่บ้านได้ ก็ต้องเอาไปทิ้งที่จุดรวมขยะหมู่บ้านที่มี 1-2 จุดได้ ไม่ต้องโยนภาระให้กับใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องอยู่กับขยะตั้งแต่เราเกิดจนตาย เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขร่วมกัน"
เมื่อถามว่ายังมีขยะที่จัดสรรยากหรือไม่ นายไพศาล เปิดเผยว่า จะเป็นขยะชิ้นใหญ่ สิ่งที่รื้อถอนจากการก่อสร้าง แล้วก็โต๊ะ ตู้ ตั่งเตียง ที่นอน โซฟา ซึ่งในส่วนของแม่ฟ้าหลวง จะจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ปีละ 2 ครั้ง หากเป็นหมู่บ้านจะจัดเก็บทุก 6 เดือน มีศูนย์จัดการขยะของชุมชน ที่นอน โซฟา จะแยกไม้ สปริง ออกจากกัน ส่วนตัวฟูก ฟอยล์ฟองน้ำต่างๆ จะนำมาอัดก้อนเป็นขยะเชื้อเพลิง หลักๆ คือการจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด.