• Future Perfect
  • Articles
  • “โครงการกินได้ไม่ทิ้งกันxไม่เทรวม” โมเดลความร่วมมือสู่เป้า Zero Food Waste ร่วมกันของโลตัสและ กทม.

“โครงการกินได้ไม่ทิ้งกันxไม่เทรวม” โมเดลความร่วมมือสู่เป้า Zero Food Waste ร่วมกันของโลตัสและ กทม.

Sustainability

ความยั่งยืน5 ต.ค. 2566 14:17 น.

ทุกวันนี้ หนึ่งในข้อกังวลที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญคือเรื่องขยะ อาทิ ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งผลร้ายต่อธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด นอกเหนือไปจากขยะสองประเภทนี้ ขยะอีกรูปแบบหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กันคือ “ขยะอาหาร” หรือ Food Waste ที่ในบางประเทศมีปริมาณมากกว่า 50% ของขยะทั้งหมด และเมื่อมีการสะสมจะก่อให้เกิดมลภาวะ เกิดก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเศร้าไม่น้อยที่อาหารเหล่านี้ไม่สามารถถูกส่งต่อไปถึงผู้ที่ต้องทนทุกข์จากความหิวโหยได้ และต้องถูกทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหารที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

เหตุนี้การลดขยะอาหารจึงเป็นหนึ่งในกระบวนการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายพยายามสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง เช่น ในไทยที่มี “โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน” ของโลตัส ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มีเป้าหมายเพื่อบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังมีคุณภาพดีให้ผู้ยากไร้ แทนการทิ้งให้กลายเป็น Food Waste โดยล่าสุดความมุ่งมั่นนี้ยังถูกยกระดับไปสู่การสร้างความร่วมมือ ต่อยอดกับโครงการไม่เทรวม ของกรุงเทพมหานคร เพื่อลดขยะอาหารจากโลตัส โก เฟรช กว่า 350 สาขาทั่วกรุงเทพ ทั้งการนำส่วนที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังมีคุณภาพดี มอบให้พนักงานรักษาความสะอาด หรือพี่ๆ คนกวาดถนนของ กทม. เพื่อนำไปประกอบอาหาร ลดค่าครองชีพ และส่วนที่ไม่เหมาะจะรับประทานแล้ว ก็แยกเป็นขยะอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กทม. นำไปจัดการต่อไปอย่างเหมาะสม โดยความร่วมมือมือนี้ครอบคลุมไปสู่พื้นทั่ว กทม. ครบทั้ง 50 เขตแล้ว

โครงการกินได้ไม่ทิ้งกันxไม่เทรวม คือการรวมพลังครั้งสำคัญของหน่วยงานเอกชนและภาครัฐ โดยมีการทำงานร่วมกันเพื่อลดปัญหา Food Waste ในหลายแง่มุม เริ่มตั้งแต่การที่โลตัสดำเนินการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ กทม.ด้วยการส่งมอบอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังมีคุณภาพดี และทานได้อย่างปลอดภัย จากร้านโลตัส โก เฟรช ให้กับฝ่ายรักษาความสะอาดของ กทม. โดยจากจุดเริ่มต้นที่มีการทดลองในพื้นที่เขตหนองแขม ในปี พ.ศ. 2565 โครงการได้เดินหน้าสู่ความสำเร็จในวันนี้ที่สามารถส่งมอบอาหารและวัตถุดิบประกอบอาหารจาก โลตัส โก เฟรช 350 สาขาใน กทม. ให้แก่เจ้าหน้าที่ได้แล้วทั้ง 50 เขต รวมเป็นปริมาณกว่า 36 ตัน ซึ่งเป็นการลด Food Waste ได้อย่างมหาศาล ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ กทม. ยังได้อิ่มท้อง มีส่วนช่วยลดค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ โลตัสยังมีส่วนร่วมสนับสนุนภารกิจของ กทม. ในด้านอื่นๆ อีกหลายประการ อาทิ สนับสนุนการแยกขยะให้เจ้าหน้าที่นำไปจัดการขยะอย่างถูกประเภท รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น การนำขยะอาหารไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดขยะสู่หลุมฝังกลบ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

“โลตัสพร้อมเดินหน้าดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และมีแผนขยายต่อยอดโครงการ ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มนำร่องแล้วที่จังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น และอยู่ระหว่างศึกษาวางแผน เพื่อจะขยายโครงการนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยมีเป้าหมายครอบคลุมทุกภูมิภาคในปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนของโลตัส ในประเด็นด้านการลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ (Zero Food Waste) ภายในปี พ.ศ. 2573” ดร.อภิรักษ์ เดชวรสิทธิ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกลยุทธ์และสนับสนุนธุรกิจ โลตัส กล่าวเสริมถึงความมุ่งหวังของโครงการในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โลตัสและ กทม. ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกันxไม่เทรวม ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต กทม.” ตอกย้ำความสำเร็จของการขับเคลื่อนการลด Food Waste และแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับโครงการไปอีกขั้น โดย คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณนันทพงศ์ แก้วศรี ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม พร้อมด้วย ดร.อภิรักษ์ เดชวรสิทธิ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกลยุทธ์และสนับสนุนธุรกิจ โลตัส ให้เกียรติร่วมงานในครั้งนี้ พร้อมร่วมทำกิจกรรมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งมอบอาหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดของ กทม., กิจกรรมปล่อยขบวนคาราวานรถขยะไม่เทรวม แสดงสัญลักษณ์ความร่วมมือสนับสนุนการแยกขยะ, กิจกรรม “ครัวรักษ์อาหาร” ที่โลตัสได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิ Scholars of Sustenance (SOS) และอาสาจากชุมชนคันนายาว ร่วมประกอบอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่จำหน่ายไม่หมดจากโลตัส โก เฟรช มารังสรรค์เป็นเมนูพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดของ กทม. แทนคำขอบคุณสำหรับการทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างหนักเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้โครงการดีๆ เช่นนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปขยายผลในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศอีกต่อไป

SHARE

Follow us

  • |