• Future Perfect
  • Articles
  • ป่าต้นน้ำ คืออะไร ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร

ป่าต้นน้ำ คืออะไร ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร

Sustainability

ความยั่งยืน5 ต.ค. 2566 13:55 น.
  • เปิดความหมายของ "ป่าต้นน้ำ" คืออะไร และทำหน้าที่อย่างไร ต่อการสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ
  • "ป่าต้นน้ำ" ช่วยลดโลกร้อนอย่างไร แล้วถ้าถูกทำลายจะเกิดอะไรขึ้น น้ำท่วม ฝนแล้ง มีผลเกี่ยวพันกันทั้งหมด 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า "ป่าต้นน้ำ" แต่เชื่อว่า มีเพียงไม่กี่คนที่จะรู้ความหมาย และประโยชน์ที่แท้จริงของป่าต้นน้ำ ว่ามีหน้าที่อะไร และสำคัญกับระบบนิเวศอย่างไร

ความหมายของ "ป่าต้นน้ำ"

แหล่งต้นน้ำลำธาร หรือที่เรียกว่า ป่าต้นน้ำ หมายถึง ป่าธรรมชาติที่ปรากฏอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ชนิดของป่าไม้ที่มักจะปรากฏให้เห็นในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ลักษณะภูมิประเทศ ชนิดของดิน ฯลฯ อาจส่งผลให้พื้นที่ต้นน้ำแห่งหนึ่งอาจถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้เพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดปะปนกันไปได้ 

การทำงานของ "ป่าต้นน้ำ"

สำหรับการทำงานของ ป่าต้นน้ำ นั้น เมื่อฝนตกลงมาในพื้นที่ ป่าจะควบคุมระบบการดูดซับและกักเก็บน้ำฝนตามธรรมชาติ แบ่งเป็นน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน บริเวณพื้นที่ใดมีต้นไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่น พรรณไม้ก็จะช่วยลดแรงปะทะหน้าดินกับเม็ดฝนได้ ตลอดจนการควบคุมการชะ พังทลายของดิน ช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่ง 

ทั้งนี้ จากการสำรวจป่าต้นน้ำ ของสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าต้นน้ำ ร้อยละ 26.38 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยพบว่าพื้นที่ที่มีป่าต้นน้ำมากที่สุดคือ พื้นที่ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคกลาง-ตะวันตก ตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ

หน้าที่ของ "ป่าต้นน้ำ"

ป้าต้นน้ำ เป็นกลไกตัวหนึ่งของระบบนิเวศต้นน้ำ โดยถูกจัดให้ไปอยู่ในส่วนของปัจจัยที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยผันแปรภายนอก อันได้แก่ น้ำฝน และพลังงานจากรังสีดวงอาทิตย์ กับปัจจัยคงที่ภายในที่ประกอบไปด้วย ลักษณะภูมิประเทศ และชนิดกับความลึกของชั้นดิน เมื่อพิจารณาเฉพาะในส่วนของระบบการหมุนเวียนน้ำ ป่าต้นน้ำจะทำหน้าที่ (function) ในการแบ่งน้ำฝนที่ตกลงมาแต่ละครั้งให้เป็นน้ำผิวติน และน้ำใต้ผิวดิน ต่อจากนั้นปัจจัยภูมิประเทศจะทำหน้าที่รับช่วงต่อ ควบคุมการไหลของน้ำผิวดิน ส่วนความลึก และชนิดของดิน จะเป็นตัวควบคุมการเคลื่อนตัวของน้ำใต้ผิวดิน

แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศ แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน พื้นที่ต้นน้ำแต่ละแห่งก็จะมีปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่เท่ากัน จึงทำให้ปริมาณและการไหลของน้ำท่ามีความแตกต่างกันด้วย พื้นที่ต้นน้ำไหน มีฝนตกมาก และติดต่อกันยาวนาน พื้นที่ต้นน้ำจะมีน้ำท่าไหลในลำธารมากตลอดทั้งปี กลับกันถ้าพื้นที่ต้นน้ำไหน มีฝนตกลงมาน้อย น้ำท่าจะไหลอย่างรวดเร็ว และมีระยะเวลาในการไหลที่สั้น

"ป่าต้นน้ำ" ช่วยลดโลกร้อนอย่างไร ถ้าถูกทำลายจะเกิดอะไรขึ้น

อย่างที่รู้กันว่า การทำลายป่าต้นน้ำ มีบทบาทต่อสภาวะโลกร้อน เนื่องจากข้อมูลพบว่าป่าต้นน้ำนั้น เป็นที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ โดยแต่ละปีป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เข้ามากักเก็บไว้ยังส่วนต่างๆ ของต้นไม้ได้มากถึง 6.33 ตัน/ไร่ 

จากการศึกษาของสถานีวิจัยต้นน้ำและชายฝั่งทะเลตะวันออก จ.ระยอง พบว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ทำการเกษตรไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิจุดน้ำค้างสูงขึ้น 0.2-0.3 องศาฯ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่แต่ละปีมีปริมาณลดลง

เมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย น้ำฝนจะตกลงสู่พื้นดินเร็วขึ้นและแรงมากขึ้น ฝนที่ตกส่วนใหญ่จะเป็นน้ำไหลบ่าหน้าผิวดิน ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง หรือต่ำกว่าอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเป็นน้ำไหลบ่าหน้าผิวดินที่ไหลลงมาจากยอดดอย มารวมตัวกันบริเวณที่ลาดเชิงเขา กลายเป็นอุทกภัย และน้ำล้นตลิ่งได้ นอกจากนี้ ยังจะไปลดปริมาณน้ำท่าในช่วงฤดูแล้ง ให้มีการไหลลดลงด้วย ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำใช้

เรียกว่า "ป่าต้นน้ำ" เป็นกลไกหนึ่ง ที่ทำให้เกิดได้ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง และโลกร้อน ดังนั้น การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้.

SHARE
03:41

ดราม่า! รถบรรทุกขนของช่วยน้ำท่วมไม่ได้ไปต่อ โดนจับคาด่านชั่งเพราะน้ำหนักเกิน

Follow us

  • |