"เอสซีจี ทุ่งสง นครศรีธรรมราช" โชว์ธุรกิจกรีนด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus มุ่ง Net Zero เร่งเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด Go Green ร่วมกับชุมชนรักษ์โลก ฟื้นสมดุลป่าต้นน้ำ เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ มุ่งสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ
วันที่ 26 ก.ย. 2566 นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานแบรนด์ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus มุ่ง Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ โดยยึดหลักเชื่อมั่น โปร่งใส ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนสูตรคาร์บอนต่ำ นวัตกรรมรักษ์โลก ลดการใช้ทรัพยากร ร่วมกับทุกภาคส่วนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และเร่งลดเหลื่อมล้ำสังคม พัฒนาทักษะอาชีพแก่ชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ช่วยให้คนเลิกแล้งเลิกจนกว่า 2 แสนคน เพื่อร่วมส่งต่อโลกที่น่าอยู่สู่คนรุ่นต่อไป สำหรับเอสซีจี ทุ่งสง ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความมุ่งมั่นเดินหน้า ESG 4 Plus ทั้งในกระบวนการผลิตและร่วมมือกับชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสดีในการเปิดบ้านเยี่ยมชมครั้งนี้
ทางด้าน นายชัยยุทธ ไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงงานปูนทุ่งสง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี ทุ่งสง ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus มุ่งเน้นกระบวนการผลิตสีเขียว (Green Process) มาโดยตลอด ปัจจุบัน ติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ นำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Generator) รวมทั้งใช้เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้นปาล์ม ต้นยางพารา ขี้เลื่อย ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าร้อยละ 50 ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 6 แสนตันต่อปี อีกทั้งยังใช้รถบรรทุกหินปูนไฟฟ้า (EV Mining Truck) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM 2.5
น.ส.จุรีพร อยู่พัฒน์ ผู้ประสานงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนทุ่งสง กล่าวว่า ใครจะเชื่อว่า ในอดีตภาคใต้เคยเกิดภัยแล้งนานกว่า 5 เดือน ต้นไม้ยืนต้นตาย ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ชุมชนจึงร่วมหาทางออก ด้วยการเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำกับเอสซีจีในโครงการรักษ์ภูผา มหานที นำความรู้จากการไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มาสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 600 ฝาย โดยปรับให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่กระแสน้ำไหลแรง ช่วยเปลี่ยนชีวิตดีขึ้น มีน้ำเพียงพอสำหรับในชีวิตประจำวัน และทำการเกษตรเลี้ยงชีพได้มั่นคง ทั้งยังถ่ายทอดความรู้การจัดการน้ำ 3 ขั้นตอน ฟื้นฟู-กักเก็บ-สำรอง ไปยังคนรุ่นใหม่และตำบลใกล้เคียง
ทางด้าน น.ส.ขวัญฤทัย ยึดมั่น ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวฅนต้นน้ำบ้านวังไทร กล่าวว่า เมื่อบ้านเรามีน้ำและเข้าร่วมโครงการพลังชุมชน ของเอสซีจี ได้เรียนรู้การเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้เราเห็นโอกาสใหม่ๆ จากการพลิกวิธีคิด สร้างมูลค่าจากสิ่งของที่มีอยู่ในชุมชน ด้วยความเข้าใจตัวเอง-ลูกค้า-ตลาด จนกลายเป็นของดีประจำชุมชน มัดใจลูกค้า อาทิ ผัดหมี่ปักษ์ใต้ เครื่องแกงชาววัง ยำมะมุด และข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง
จากนั้นต่อยอดสู่การท่องเที่ยวอนุรักษ์ 9 จุดมหัศจรรย์ ป่าชุมชนคนต้นน้ำวังไทร มอบประสบการณ์ล้ำค่าใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น เดินป่าฝ่าดงไผ่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ร่วมทำฝายชะลอน้ำและปลูกต้นไม้ ล้อมวงกินข้าวในอ้อมกอดป่า โดยมีคนในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษา มาดูงานด้านการแปรรูป เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย
นางสุจิตรา ป้านวัน ประธานกลุ่มชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ กล่าวว่า หมู่บ้านเราไม่มีถังขยะหน้าบ้าน เพราะขยะมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด สามารถสร้างรายได้จากการนำมาแยกและขายเพื่อรีไซเคิล เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ส่วนเศษอาหารนำมาทำปุ๋ยหมักและอาหารสัตว์
สำหรับ ขยะทั่วไปที่เผาไหม้ได้ นำไปขายให้เอสซีจี แล้วผ่านกระบวนการจนกลายเป็นเชื้อเพลิงทดแทน แรกๆ เป็นเรื่องยาก แต่พอหมั่นลงพื้นที่ เริ่มจากคนสนิทสู่คนในชุมชน และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พอทุกคนเห็นว่าทำได้จริง จึงเกิดเป็นความร่วมมือจัดการขยะ เชื่อมสัมพันธ์ชุมชน และต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจสร้างชุมชน Like (ไร้) ขยะ
อย่างไรก็ตาม เอสซีจี พร้อมเดินหน้า ESG 4 Plus ในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีดำเนินงาน เร่งเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด พัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชวนชุมชนรักษ์โลก สร้างอาชีพด้วยความรู้คู่คุณธรรม ลดเหลื่อมล้ำ ขยายความร่วมมือในวงกว้าง เพื่อร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำยั่งยืน.