- จากสถิติ "สถานการณ์ขยะมูลฝอย" ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2565 มีปริมาณขยะมูลฝอยสูงถึง 25.70 ล้านตัน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง ถูกกำจัดไปอย่างไม่ถูกต้อง และกลายเป็นขยะมูลฝอยตกค้าง
- ทำความรู้จักแนวคิด "Waste to Energy" เปลี่ยนขยะให้กลายเป็น พลังงานทดแทน
- เช็กข้อดี-ข้อเสีย ที่ต้องพิจารณาของ "โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ" เพื่อแก้ปัญหาขยะในปัจจุบัน
รู้หรือไม่ การจัดการ "ขยะมูลฝอย" ยังคงเป็นปัญหาระดับโลก ที่หลายประเทศยังต้องเผชิญ จากการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตของจำนวนประชากร ทำให้ขยะมูลฝอยมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับประเทศไทยนั้น จากข้อมูลล่าสุดของ "กรมควบคุมมลพิษ" พบว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของปี 2565 มีปริมาณ 25.70 ล้านตัน ซึ่งพบว่าขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไปอย่างไม่ถูกต้อง และขยะมูลฝอยตกค้าง มีปริมาณรวมกันถึง 17.01 ล้านตัน
ทุกภาคส่วนจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรีไซเคิล แคมเปญลดขยะ และการพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน รวมถึงมองหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่หลายคนนึกถึง นั่นก็คือ กระบวนการ "Waste to Energy" การใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยน "ขยะ" ให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อลดปัญหาขยะล้นเมือง
สถานการณ์ปัญหา "ขยะมูลฝอย" ในปัจจุบัน
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีลักษณะต่างกันไป แต่ที่พบส่วนใหญ่ มีดังนี้
- การผลิตขยะที่เพิ่มขึ้น : ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเมือง ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม : ระบบการจัดการขยะที่ไม่เพียงพอ หรือการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม มักจะนำไปสู่การสะสมของเสียในหลุมฝังกลบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
- มลพิษจากพลาสติก : การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากเกินไป และแนวทางปฏิบัติในการกำจัดที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดมลพิษจากพลาสติกอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตในทะเล
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ : ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ส่งผลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอันตราย และต้องมีวิธีการรีไซเคิล และการกำจัดที่เหมาะสม
- ขยะอาหาร : การสูญเสียอาหารในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการผลิต การแปรรูป การกระจาย และการบริโภค ถือเป็นข้อกังวลที่สำคัญ เมื่อพิจารณาถึงทรัพยากรและพลังงานที่ลงทุนในการผลิต
- การทิ้งอย่างผิดกฎหมาย : การทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ หรือแหล่งน้ำที่ไม่ได้รับอนุญาต ยิ่งทำให้ปัญหามลพิษรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
- การขาดความตระหนักรู้ และการศึกษา : ความตระหนักไม่เพียงพอเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะที่เหมาะสม และความสำคัญของการรีไซเคิล มักก่อให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย
แน่นอนว่าการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามร่วมกัน รวมถึงการปรับใช้ระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิผล การส่งเสริมการรีไซเคิล และการทำปุ๋ยหมัก ส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้แก่บุคคลและชุมชน
รู้จัก "Waste to Energy" การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานทดแทน
และเนื่องจากสถานการณ์ขยะมูลฝอยดังกล่าว จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสม นั่นคือ "Waste to Energy" การนำขยะมูลฝอยจากครัวเรือน ชุมชน ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม กลับมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ
เพื่อให้ได้พลังงานที่อาจอยู่ในรูปพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน รวมถึงเชื้อเพลิงอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ โดยเฉพาะขยะตามบ้านเรือน หรือกิจการต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูงจากมวลชีวภาพ เช่น กระดาษ เศษอาหาร และไม้ เป็นต้น
โดยแต่ละเทคโนโลยีสามารถแปรรูปพลังงานออกมาต่างกัน ทั้งในรูปพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า และพลังงานในรูปเชื้อเพลิง ดังนั้น การแยกขยะจากชุมชน บ้านเรือน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ประเทศไทยลดขยะที่มีอยู่ได้อย่างมาก และช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
Waste to Energy เหมาะกับขยะชนิดไหน
ขยะหลากหลายชนิดที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น สามารถนำกลับมาผลิตเป็นพลังงานได้ โดยแบ่งกลุ่มได้ ดังนี้
- ขยะที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ ซากพืช รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ซึ่งอาจนำไปหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ
- ขยะที่เผาไหม้ได้ โดยขยะกลุ่มนี้อาจใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย หรือไม่สามารถย่อยสลายได้เลย เช่น ไม้ กระดาษ พลาสติก และยาง ซึ่งสามารถนำไปเผาเป็นพลังงาน
- ขยะอื่นๆ เช่น ขยะที่ขุดจากบ่อฝังกลบ ตะกอนน้ำเสีย ฯลฯ สามารถนำกลับมาแปรรูปเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีอันเหมาะสมเช่นกัน
ทั้งนี้ ขยะแต่ละชนิดเหมาะกับเทคโนโลยีแตกต่างกัน ในการแปรรูปขยะ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตเป็นพลังงานที่แตกต่างกันด้วย
เผยข้อดีของ "โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ" แนวคิด Waste to Energy
ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้นำแนวคิด "Waste to Energy" มาสร้างเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะหลายแห่งทั่วประเทศไทย เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ ดังนี้
- โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สามารถเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานได้ ทำให้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างถ่านหิน หรือน้ำมัน ที่ใกล้จะหมดไป และสร้างมลพิษให้กับโลก
- การแปรรูปวัสดุเหลือใช้ หรือขยะต่างๆ คือการปริมาณของเสีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาพื้นที่ฝังกลบที่จำกัด
- พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากขยะ สามารถนำไปใช้จ่ายไฟให้กับบ้าน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการจัดหาพลังงานโดยรวมได้
- นอกจากนี้ กระบวนการเผาไหม้ในโรงงานขยะ เพื่อเป็นพลังงาน สามารถควบคุม และมีประสิทธิภาพมาก จึงส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้
ข้อเสีย และสิ่งที่ต้องคำนึงของ "โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ"
อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังขยะ หรือแนวคิดเรื่อง Waste to Energy ก็ยังมีข้อเสียบางประการที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
- มลพิษทางอากาศ กระบวนการเผาไหม้ในโรงงานที่ใช้ขยะเป็นพลังงาน สามารถปล่อยมลพิษออกสู่อากาศ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และอนุภาคต่างๆ จำเป็นต้องมีระบบควบคุมการปล่อยมลพิษที่เหมาะสม เพื่อลดมลพิษเหล่านี้
- การกำจัดเถ้า การเผาไหม้ของเสียทำให้เกิดขี้เถ้า ซึ่งประกอบด้วยโลหะหนัก และสารที่อาจเป็นอันตรายอื่นๆ ดังนั้นการกำจัด และการจัดการขี้เถ้าอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม
- การรับรู้ของสาธารณชน ชุมชนบางแห่งอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นจากโรงงานผลิตพลังงานขยะ การจัดการกับข้อกังวลเหล่านี้ และการรับรองความโปร่งใสในการดำเนินงานของโรงงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการยอมรับของสาธารณะ
- ความเหมาะสมของขยะมีจำกัด ขยะบางประเภทไม่สามารถนำไปแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพในโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานได้ ของเสียบางประเภท เช่น วัสดุอันตราย หรือสารกัมมันตภาพรังสี จำเป็นต้องมีวิธีการบำบัด และกำจัดแบบพิเศษ
อย่างไรก็ตาม แนวคิด หรือเทคโนลีเรื่องของ Waste to Energy ก็ถือเป็นอีกทางเลือกในการแก้ปัญหา "ขยะมูลฝอย" ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญของการตัดสินใจต่างๆ ก็ต้องชั่งน้ำหนักข้อดี และข้อเสียเหล่านี้ เพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน.