• Future Perfect
  • Articles
  • 22 กันยายน "วันอนุรักษ์แรดโลก" สัตว์บกขนาดใหญ่ เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

22 กันยายน "วันอนุรักษ์แรดโลก" สัตว์บกขนาดใหญ่ เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

Sustainability

ความยั่งยืน22 ก.ย. 2566 12:30 น.
  • รู้จักสายพันธุ์ของ "แรด" มีเพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้น
  • WWF ประเทศไทย รายงานข้อมูลล่าสุดว่า ทั่วโลกมีจำนวนแรดเหลืออยู่ไม่ถึง 30,000 ตัว
  • "กาลิ" แรดอินเดีย หนึ่งเดียวในประเทศไทย อยู่ที่ "สวนสัตว์เชียงใหม่" 

จุดเริ่มต้นของ "วันอนุรักษ์แรดโลก" ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature-WWF) แห่งแอฟริกาใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรดสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีสาเหตุหลักมาจากการลักลอบล่าของมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักของการล่าแรด คือ ความต้องการที่จะนำนอแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ ซึ่งแท้จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของมนุษย์

"แรด" ในภาษาอังกฤษ คือ Rhinoceros มาจากภาษากรีก 2 คำ ได้แก่ rhino แปลว่า จมูก และ ceros แปลว่า เขาสัตว์ เนื่องจากแรดจะมีเขาแหลมงอกขึ้นมาบริเวณสันจมูกหรือที่เรียกกันว่า "นอ" โดยแรดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากช้าง แม้ว่าแรดอาจจะดูเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่ดูภายนอกเหมือนดุร้าย แต่จริงๆ ก็มีมุมน่ารักน่าเอ็นดูไม่แพ้สัตว์โลกตัวอื่นๆ แถมการมีอยู่ของฝูงแรดยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลอีกด้วย

แรดมีเพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้น

  • แรดขาว Ceratotherium simum

เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา

  • แรดดำ Diceros bicornis

เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน

  • แรดอินเดีย Rhinoceros unicornis

พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน

  • แรดชวา Rhinoceros sondaicus

พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย

  • แรดสุมาตรา Dicerorhinus sumatrensis

กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง

สำหรับ แรดดำ, แรดชวา และแรดสุมาตรา นั้นถูก IUCN จัดให้เป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) คาดว่า แรดชวานั้นมีจำนวนประชากรเหลือน้อยกว่า 70 ตัว แรดสุมตรามีเหลือ 100 ตัว ประชากรแรดขาวนั้นเหลือประมาณ 10,000 ตัว ในธรรมชาติ และถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) ในขณะที่แรดอินเดียถูกจัดให้เป็นเป็นสัตว์มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) 

ในปัจจุบัน แรดกลายมาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรดใกล้สูญพันธุ์นั้นเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายที่อยู่อาศัยของแรด และอีกสาเหตุหลักที่สำคัญคือ การล่าของมนุษย์ ที่ต้องการนำนอแรดไปขายแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่างๆ รวมถึงการนำนอแรดไปปรุงเป็นยา ตามความเชื่อของชาวจีนว่านอแรดสามารถรักษาโรคได้บางโรค ทั้งที่จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของคน

ขณะที่ WWF ประเทศไทย รายงานข้อมูลล่าสุดว่า ทั่วโลกมีจำนวนแรดเหลืออยู่ไม่ถึง 30,000 ตัว ได้แก่แรดอินเดีย (3,300 ตัว) แรดดำ (5,000 ตัว) และแรดขาว (20,400 ตัว) 

แรดเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดี 

หากเรายืนนิ่งๆ ไกลจากแรดประมาณ 30 เมตร มันจะไม่สามารถมองเห็นเราได้ แรดมีความสามารถในการมองเห็นค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นมันมักจะใช้ความสามารถในการดมและได้กลิ่นในการดำรงชีวิตเป็นหลัก ทั้งยังใช้การจามและอุจจาระในการสื่อสาร เมื่อแรดพบปะกันมันจะส่งเสียงคล้ายกับเสียงแตรเพื่อเป็นการทักทาย

เมื่อเวลามันโกรธมันจะส่งเสียงกรน มันจะจามเมื่อต้องการเตือนภัยอีกฝ่าย แรดส่งเสียงกรีดร้องเมื่อกลัว และมันยังใช้อุจจาระกับปัสสะวะของมันในการบอกตัวอื่นว่ามันอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยแรดสามารถขับถ่ายขับอุจจาระได้มากถึง 22 กิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากแรดจำเป็นต้องกินพืชในปริมาณมากเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอในหนึ่งวัน 

หลังจากผสมพันธุ์แล้ว แรดจะแยกทางกันอยู่ ลูกแรดจะอยู่กับแม่จนถึงอายุประมาน 2 ปีและแยกออกไป แรดเป็นสัตว์ที่รักสันโดษทำให้บางทีลูกที่เกิดมาอาจจะไม่เคยได้เจอหน้าพ่อเลยด้วยซ้ำ 

"กาลิ" แรดอินเดีย หนึ่งเดียวในประเทศไทย

"แรดกาลิ" ถูกส่งตัวเข้ามาจากประเทศเนปาล โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งประเทศเนปาลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงพระราชทานให้กับองค์การสวนสัตว์ฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2529 ซึ่งขณะนั้น แรดกาลิ มีอายุเพียง 1 ปี 2 เดือน น้ำหนัก 375 กิโลกรัม ขนาดลำตัวยาว 86 นิ้ว(ประมาณ 7 ฟุต 2 นิ้ว) สูงช่วงไหล่ 46.5 นิ้ว พร้อมจัดส่งมาไว้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ 

ประวัติของแรดกาลิ เกิดเมื่อปี 2528 ปัจจุบันอายุ 38 ปี มีน้ำหนักตัวประมาณ 1.5 ตัน สูงกว่า 2 เมตร มีนอเดียว ผิวหนังมีรอยย่นพับมองดูคล้ายเสื้อเกราะนักรบโบราณ ชอบกินใบไม้เป็นหลัก มีอยู่เพียงตัวเดียว แห่งเดียวในประเทศไทยที่ "สวนสัตว์เชียงใหม่" เท่านั้น

ภาพจาก : สวนสัตว์เชียงใหม่
ภาพจาก : สวนสัตว์เชียงใหม่

ร่วมกันอนุรักษ์ ไม่ให้แรดสูญพันธ์

ถึงแม้แรดจะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก แต่ทว่าจำนวนประชากรของแรดก็กำลังลดลงไปในทุกๆ ปี จึงอยากขอให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ พร้อมส่งเสียงถึงผู้ที่ยังอยากครอบครอง "นอแรด" ควรเลิกใช้เครื่องประดับที่มาจากชีวิตของผู้อื่น ก่อนที่จะทำให้สัตว์ชนิดนี้ต้องสูญพันธุ์ไปตลอดกาล.