- "ของใหม่" มา "ของเก่า" ตกรุ่น ตกกระป๋อง จุดเริ่มต้นการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์
- รู้จัก "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หรือ E-waste คืออะไร หากกำจัดไม่ถูกวิธีจะส่งผลกระทบทั้งกับร่างกาย และสิ่งแวดล้อม
เห็นข่าวเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยี่ห้อดัง ซึ่งก็ทำให้หลายต่อหลายคนที่เป็นแฟนคลับ ถึงกับหวั่นไหว โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์เสริมในมือ เหมือนจะพบปัญหาติดขัด ใช้งานไม่ลื่นไหลอีกต่อไป
แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ ทำให้อดนึกถึง "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ไม่ได้ ซึ่งขยะเหล่านี้ ถือเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้
E-waste : ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?
สำหรับ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-waste) หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) หมายถึง ซากเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้า หรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน (Off-spec) หรือหมดอายุการใช้งานหรือล้าสมัย ซึ่งซากอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกทิ้งเป็นขยะ หรือส่งต่อไปยังร้านรับซื้อของเก่า รถรับซื้อของเก่า ที่จะได้นำไปคัดแยกชิ้นส่วน และนำไปกำจัดต่อไป
ตามระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) ที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้จำแนกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ภายในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ฯลฯ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในครัวเรือน เช่น เตารีด เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องเป่าผม ฯลฯ
- อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรีไฟฟ้า ฯลฯ
- อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟประเภทต่างๆ
- เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า ฯลฯ
- ของเล่นหรืออุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า
- อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
- เครื่องมือตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ
- เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และตู้ ATM
และด้วยเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์จาก World Economic Forum ว่า ในแต่ละปีมีซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้น ประมาณ 50 ล้านตัน และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตัน ในปี 2593
สำหรับประเทศไทยเอง ปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งหากไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ภายใน 5-10 ปี ไทยอาจเดินทางเข้าสู่ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ขั้นวิกฤติ ทั้งจากปริมาณขยะจากคนในประเทศ และจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ อันตรายอย่างไร
ปัจจุบันทั่วโลกมีการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย ประมาณ 20% เท่านั้น ที่เหลืออีก 80% มักจะถูกนำไปเผา หรือฝังกลบ และถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนา เพื่อคัดแยกพลาสติกและโลหะมีค่านำไปขาย โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากในขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ จะมีปรอท ตะกั่ว ฯลฯ ซึ่งเป็นโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ เมื่อนำไปฝังกลบ สารเคมีที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะถูกปนเปื้อนลงในดิน แหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ต่างๆ เพราะตะกั่วมีพิษทำลายระบบประสาท ระบบโลหิต การทำงานของไต ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ
แต่หากนำไปกำจัดด้วยการเผา ก็จะมีกลิ่นเหม็นไหม้ ก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ สารไดออกซิน และฟิวแรน นอกจากเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อมแล้ว หากมีการสูดดมสารพิษเหล่านี้เข้าไปมากๆ อาจสะสมในร่างกาย จนเกิดอันตรายได้อีกด้วย
วิธีกำจัด "ขยะอิเล็กทรอนิกส์"
สำหรับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากจะเริ่มจากต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้คุ้มค่า ไม่เปลี่ยนบ่อยๆ แล้ว เว้นแต่จะเริ่มเสื่อมสภาพ หากใช้ต่อไปอาจเกิดอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกวิธีคือ การนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานเอกชน ที่ร่วมมือกับภาครัฐ ตั้งจุดรับทิ้ง E-waste หรือจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 1,800 จุดทุกภาค ทั่วประเทศ (ค้นหาจุดทิ้งขยะ E-waste ที่นี่)
โดยกระบวนการรีไซเคิล "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" เมื่อขยะเหล่านี้เดินทางมาถึงโรงงานแยกขยะ จะถูกส่งเข้ากระบวนการคัดแยกชิ้นส่วนให้ออกมาเป็นวัสดุประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แผงวงจร, แบตเตอรี่, เหล็ก, เงิน, ทอง หรือพลาสติก
ชิ้นส่วนที่คัดแยกแล้ว ก็จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ด้วยการนำเข้าเตาหลอมของวัสดุประเภทต่างๆ แทนการฝังกลบ จนสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่