- รู้จัก "ขยะกำพร้า" คำนิยามขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่า หากปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
- ขยะกำพร้า สู่พลังงานทางเลือกทดแทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าและโรงปูนซีเมนต์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขยะพลังงาน RDF
- "ขยะกำพร้า" มีอะไรบ้าง พร้อมแนะช่องทางทิ้งอย่างถูกต้อง
เราถูกปลูกฝังให้แยกขยะก่อนทิ้ง เมื่อแยกแล้วก็หย่อนลงถังขยะให้ถูกสีเพื่อง่ายต่อการนำขยะแต่ละประเภทไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยขยะนั้นสามารถแยกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ ขยะเปียก, ขยะอันตราย, ขยะทั่วไป และ ขยะรีไซเคิล ซึ่งบางคนอาจแยกขยะเพื่อนำไปขายให้กับซาเล้งที่มารับซื้อตามบ้าน และขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า
ขยะกำพร้า คืออะไร
ดังนั้น หากใครที่แยกขยะเป็นประจำจะรู้ว่า มีขยะบางจำพวกที่ไม่มีใครรับซื้อ เพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิล ซึ่งเราเรียกขยะเหล่านี้ว่า "ขยะกำพร้า" เมื่อรีไซเคิลไม่ได้ จึงทำให้ที่ผ่านมาขยะเหล่านี้ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งปลายทางของขยะเหล่านี้จะลงสู่บ่อฝังกลบ ที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย และหากเมื่อมีปริมาณมากขึ้นก็ต้องใช้พื้นที่ในการฝังกลบไปเรื่อยๆ หากปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าจะชื่อ "ขยะกำพร้า" ไม่มีใครอยากได้ แต่หากส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องก็สามารถนำเป็นไปพลังงานทางเลือกทดแทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าและโรงปูนซีเมนต์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขยะพลังงาน RDF (Refuse Derived Fuel) ซึ่งจะมีตัวกลางนำขยะเหล่านี้ไปกำจัดอย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์
เปลี่ยน "ขยะกำพร้า" เป็นพลังงานทดแทน
เมื่อขยะเหล่านี้เดินทางมาถึงโรงงาน จะมีเครื่องคีบขยะเหล่านี้เข้าสู่เครื่องตัดย่อยให้มีขนาดเล็กลงแล้วส่งไปตามสายพาน หลังจากนั้นก็จะเข้าเครื่องแม่เหล็กเพื่อแยกโลหะออก โดยจะมีการแยกขนาดออกเป็น 2 ขนาด คือ ขนาด 10 เซนติเมตร จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงที่โรงงานไฟฟ้า ส่วนขนาด 5 เซนติเมตรจะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงที่โรงงานปูนซีเมนต์
ขยะกำพร้า ที่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง RDF ได้แก่ ซองขนม ถุงน้ำยาในครัวเรือน กระดาษเคลือบมัน กระดาษติดสก๊อตเทป กล่องอาหาร กระดาษทิชชูเฉพาะที่ไม่ผ่านการเช็ดเลือดหรือปฏิกูล ฟอยล์ ขวดน้ำยา หลอดยาสีฟัน หลอดกาแฟ ขวดบรรจุครีม เศษผ้าเก่า ชุดชั้นใน กล่องโฟม ปากกา แผ่นซีดี บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม เศษหมากฝรั่ง ลูกบอลเก่า พวงมาลัยแห้ง ตุ๊กตาเจ้าที่ แผงยา ซองกันชื้น ชุดตรวจ ATK ของผู้ไม่ป่วย หน้ากากอนามัยของผู้ไม่ป่วย เจลลดไข้ พลาสเตอร์ยา
ส่วนขยะที่ไม่รับ ได้แก่ ท่อพีวีซี ท่อปะปา หนังเทียม ขวดแก้ว สายไฟ เศษเหล็ก ลวด ขยะติดเชื้อ เช่น ชุดตรวจ ATK ของผู้ป่วย หน้ากากอนามัยของผู้ป่วย ผ้าอนามัย สายยาง กระเบื้อง สังกะสี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับวิธีจัดเก็บขยะกำพร้าเพื่อส่งไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง แนะนำว่าควรล้างพอสะอาด จากนั้นนำมาผึ่งให้แห้ง แล้วเก็บรวบรวมส่งไปยังหน่วยงานที่รับขยะเหล่านี้ไปจัดการ และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำขยะกำพร้าไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน RDF แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี
- มีค่าความร้อนสูง เทียบเท่ากับชีวมวล และมีค่าความชื้นต่ำ
- เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ทั้งพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า
ข้อเสีย
- จำเป็นต้องคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนนำเข้าสู่ระบบ จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการคัดแยก และการขนส่ง
- เป็นระบบเชื้อเพลิง ที่ต้องมีระบบอื่นที่สามารถรองรับเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงขยะเป็นพลังงานอื่นอีกต่อหนึ่ง
ขยะกำพร้า ทิ้งที่ไหนดี
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดพื้นที่ปั๊มบางจากเป็นจุดรับขยะกำพร้า ได้แก่ สถานีบริการที่เป็นจุดรับขยะกำพร้า 4 สถานี ได้แก่
1. สาขาถนนบางนา กม. 16
2. สาขาพหลโยธิน ซอย 73
3. สาขาราชพฤกษ์ 2
4. สาขารามอินทรา-คู้บอน
N15 Technology
สามารถส่งไปที่ N15 Technology 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 (คุณสมบูรณ์ กิตติอนงค์) หรือติดตามตาราง กิจกรรมขยะกำพร้าสัญจรล่าสุดได้ที่ Facebook N15 Technology