- ตั้งแต่ปี 2540-2565 หรือในรอบ 26 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเกิดเหตุ "น้ำมันรั่วไหล" มาแล้ว 176 เหตุการณ์ เฉลี่ย 6-7 ครั้งต่อปี
- โดยสถานที่เสี่ยงเกิดเหตุมากที่สุด คือ จังหวัดระยอง และชลบุรี เนื่องจากมีการทำกิจกรรมชายฝั่ง และเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง
- เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลายด้าน แม้จะไม่เห็นผลทันที แต่ก็จะสร้างความเสียหายในระยะยาว โดยเฉพาะตาม "แนวประการัง"
เรียกได้ว่าเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนวงการนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวงการท่องเที่ยวอีกครั้ง สำหรับกรณี "น้ำมันดิบ" รั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อคืนวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าในการลงพื้นที่สำรวจบริเวณชายหาดเบื้องต้นจะยังไม่พบคราบฟิล์มน้ำมัน และก้อนน้ำมันดิน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องติดตามข้อมูล และอัปเดตสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เนื่องจากยังมีความกังวลว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเลไทยในระยะยาว ที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิต และทรัพยากรบริเวณนั้น กระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผลกระทบต่อแนว "ปะการัง" ที่ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
สถิติน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำไทย "ระยอง-ชลบุรี" เสี่ยงเกิดเหตุมากที่สุด
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) เผยข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2540-2565 หรือในรอบ 26 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเกิดน้ำมันรั่วไหลมาแล้ว 176 เหตุการณ์ โดยที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 6-7 ครั้งต่อปี
ในขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยผลจากการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดระยอง และชลบุรี เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเล
เนื่องจากมีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ได้แก่ การเดินเรือเข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว ตลอดจนบริเวณชายฝั่งจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้มีการเดินเรือเข้า-ออกเพื่อขนส่งน้ำมัน รวมทั้งมีระบบท่อขนส่งน้ำมันในทะเล
สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และตอนกลาง ได้แก่ บริเวณชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงปี พ.ศ.2563-2564 พบน้ำมันรั่วไหลบ่อยครั้งมากกว่าอดีตที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากทั้งเรือประมง เรือท่องเที่ยว การแอบล้างถังบรรจุน้ำมันและทิ้งน้ำมันที่ปนเปื้อนลงสู่ทะเล การเดินเรือขนส่งในทะเล
รวมทั้งอาจเกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล ทำให้เกิดก้อนน้ำมันพัดพาเข้าสู่ชายหาด ทั้งนี้คลื่นลมและกระแสน้ำในแต่ละฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่พัดพาน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลเข้าสู่ฝั่งได้อีกด้วย
เผย 4 สาเหตุที่ทำให้เกิด "น้ำมัน" รั่วไหลในทะเล
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังได้บันทึกสถิติสาเหตุ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย โดยอัปเดตเมื่อปี 2565 สรุปได้ดังนี้
- กิจกรรมของอุตสาหกรรมน้ำมัน และปิโตรเลียม ได้แก่ โรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ โรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การขนถ่ายน้ำมัน เป็นต้น บริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลที่สำคัญในปัจจุบันคือ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียม และบริเวณใกล้เคียงที่มีโรงงานกลั่น และกักเก็บน้ำมัน รวมทั้งกระบวนการขนถ่ายน้ำมันในทะเล
- อุบัติเหตุการเฉี่ยวชนกันของเรือเดินทะเลชนิดต่างๆ โดยเหตุการณ์ที่สำคัญในปี 2545 ได้แก่ เรือบรรทุกน้ำมัน โดยเฉพาะกรณีเรือ EASTERN FORTITUDE เกิดอุบัติเหตุชนหินโสโครก บริเวณช่องแสมสาร จ.ชลบุรี และเรือ KOTA WIJAYA ชนกับเรือ SKY ACE บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
- การลักลอบถ่ายเทน้ำมัน หรือของเสียที่เกิดจากการชะล้าง โดยไม่มีการบำบัด เช่น เรือเดินสมุทร เรือประมง และเรือท่องเที่ยว แล้วเกิดปฏิกิริยาจนเปลี่ยนเป็นก้อนน้ำมันตามชายฝั่งทะเล ที่เรียกว่า ก้อนน้ำมัน (Tar ball)
- กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันที่สำคัญ คือ การขนส่งต่างๆ ทั้งทางทะเลและบก จากสถิติของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในช่วงปี 2559-2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามสถานภาพน้ำมันรั่วไหลบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รวม 23 จังหวัด พบน้ำมันรั่วไหลจำนวน 101 ครั้ง เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 28 ครั้ง และจากการติดตามตรวจสอบพบก้อนน้ำมันดิน 73 ครั้ง
ผลกระทบ และความเสียหายจากเหตุ "น้ำมันรั่วไหล" ในทะเล
การเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเล เป็นเหตุการณ์ที่หลายๆ คนไม่คาดคิด และไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้านดังต่อไปนี้
- ความเสียหายทางระบบนิเวศ
เมื่อน้ำมันปนเปื้อนกับน้ำ จะเป็นเหมือนฟิล์มไปปิดกันไม่ให้ออกซิเจนละลายลงในน้ำ รวมถึงการปิดกั้นแสง เป็นผลให้พืชน้ำ หรือแพลงก์ตอนพืช ไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ เมื่อผู้ผลิตไม่สามารถอยู่ได้ ย่อมส่งผลต่อสัตว์น้ำต่างๆ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน เหมือนกับการตัดตอนวงจรระบบนิเวศในทะเล
นอกจากนี้ สัตว์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นก นากทะเล หรือแมวน้ำ ที่ต้องหากินในทะเลก็รับผลตามมาเช่นกัน หากน้ำมันติดตามขนสัตว์เหล่านี้ก็ไปจะลดประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย และการต้านท้านความหนาวเย็น จนเป็นผลให้ภูมิคุ้มกันมันลดต่ำจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ
คราบน้ำมันที่รั่วไหลย่อมทำลายทัศนียภาพอันสวยงามของทะเล เป็นผลให้แหล่งท่องเที่ยวด้อยคุณค่าลง ส่งผลให้การท่องเที่ยวซบเซา สิ่งที่ตามมาคือ พ่อค้า แม่ค้า รวมถึงผู้ให้บริการที่พักโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวก็จะมีรายได้ลดลง และยังส่งผลกระทบต่อผู้ทำการประมงทั้งในแง่การออกเรือหาปลา และประมงชายฝั่งที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง เช่น ชาวประมงผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นต้น
- ความเสียหายด้านสุขภาพร่างกาย
สุดท้ายผลกระทบก็จะย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในแง่สุขภาพ จากการบริโภคสัตว์น้ำจากทะเลที่ได้รับสารพิษจากน้ำมัน และการสูดดมไอของน้ำมันเป็นเวลานานจนสะสมระยะยาว ก็จะส่งผลไปยังการเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เสี่ยงต่อการแท้งในหญิงมีครรภ์ แถมสารเบนซีนในน้ำมันยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของน้ำมัน ปริมาณที่รั่วไหล สภาพภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เกิดการรั่วไหล กระแสน้ำ กระแสลม การขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนความหลากหลาย และความสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยรอบด้วย
น้ำมันรั่วไหลในทะเลชลบุรี อาจทำให้ "ปะการัง" เป็นหมันชั่วคราว
จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดชลบุรี ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาในอดีต และในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมาพบว่าน้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมัน สามารถทำให้ปะการังเป็นหมัน
โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมัน และสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ
ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า "ปะการังเป็นหมันชั่วคราว" แต่อย่างไรก็ตามถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100%
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 และเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ที่ระยอง
จึงได้มีการประเมินถึงการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่สิ่งแวดล้อม โดยได้เข้าไปศึกษาปริมาณโลหะหนัก ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ผลของน้ำมันและสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน ต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมทั้งการสะสมและส่งผ่านสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในห่วงโซ่อาหารทะเล
สำหรับในครั้งนี้ทางทีมวิจัยจะติดตามศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
"น้ำมันรั่วไหล" กระตุ้นการเกิดปรากฏการณ์ "ปะการังฟอกขาว"
ในขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลกระทบของน้ำมันที่ส่งผลต่อปะการัง 2 แบบ ดังนี้
- แบบเฉียบพลัน เกิดเมื่อน้ำมันเยอะๆ สะสมในอ่าว เมื่อน้ำลง คราบน้ำมันโดนปะการังโดยตรงก็จะขาวและตายในทันที
- ส่งผลระยะยาว ปะการังอาจไม่ตาย มองภายนอกก็ปกติ แต่จะอ่อนแอ และเริ่มเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น เมื่อโดนน้ำร้อนจะฟอกขาวง่าย ฟื้นยาก หรืออยู่ในน้ำคุณภาพไม่ดี เช่น น้ำเขียวปี๋ ก็อาจมีผล โดยอย่างแรกประเมินไม่ยาก แต่อย่างที่สองยาก ต้องติดตามกันเป็นปีๆ ซึ่งก็คงต้องใช้งบประมาณเป็นกรณีพิเศษ.
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย