- รู้จัก ESG กรอบแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 3 ด้าน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี
- ESG จะกลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
- ความสำคัญของ ESG ที่ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนธุรกิจ ภาครัฐ และ ภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันเพื่อโลกและสังคมที่ดีกว่า
การประกอบธุรกิจในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศแปรปรวน รวมไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อที่จะกอบกู้โลกใบนี้ พวกเราทุกคนจึงต้องช่วยกัน ซึ่งภาคเอกชนเองก็ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจหันไปใส่ใจสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้นักลงทุนทั่วโลกจึงหันมาสนใจแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนนำมาใช้พิจารณาเมื่อคิดจะลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ซึ่งจากบทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่ง ได้ชี้ว่า ในระยะยาว การลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นแนวคิด ESG จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่มุ่งแสวงผลกำไรเพียงอย่างเดียว และอาจเป็นไปได้ว่า ในวันข้างหน้าสถาบันการเงินหลายแห่งจะไม่สนับสนุนเงินลงทุนให้กับบริษัทที่ไม่คำนึงถึงแนวคิด ESG เช่น ธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แนวคิด ESG คืออะไร
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ESG คือ กรอบแนวคิดในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้ในการตัดสินใจเลือกลงทุน โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่หากำผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน ได้แก่ Environment, Social และ Governance
- Environment (สิ่งแวดล้อม) คือ หลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยมลพิษ การจัดการของเสีย การรีไซเคิล การจัดการกับพลาสติก
- Social (สังคม) คือ หลักเกณฑ์ที่ใช้วัดการจัดการความสัมพันธ์กับ ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ ลูกค้า ชุมชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดอย่างไร เช่น ความเป็นอยู่ของพนักงาน, ค่าแรงที่เป็นธรรม
- Governance (ธรรมาภิบาล) คือ หลักการที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
ESG จะกลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ
การนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในองค์ นอกจากช่วยดึงดูดนักลงทุน ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นแล้ว อีกเหตุผลสำคัญคือ "ESG จะกลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ"
จากข้อมูลของ ศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า "ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ได้กำหนดให้ธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (EU) ยังกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนต้องเปิดเผยข้อมูล ESG ตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Financial Disclosure Regulation หรือ SFDR) เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ซึ่งมีอีกหลายประเทศที่มีแผนจะบังคับใช้เกณฑ์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้แต่ประเทศไทย"
ESG ที่ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนธุรกิจ
แม้ว่าแนวคิด ESG จะมุ่งเน้นไปในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมก็ยังเป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้นภาคประชาชน ภาครัฐ จึงต้องร่วมมือกัน ดังนี้
ประชาชน
- สร้างค่านิยมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนค่านิยมนี้ไปยังภาครัฐ และเอกชนให้ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- สนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก
- ลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนความเท่าเทียมในสังคม
ภาครัฐ
- มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกๆ ด้าน
- มีนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม จากวิกฤติโลกรวน และสนับสนุนภาคเอกชนในการทำเดินธุรกิจรักษ์โลก
เพราะโลกมีใบเดียว พวกเราจึงต้องช่วยกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่า...