• Future Perfect
  • Articles
  • "Global food crisis" วิกฤติอาหารโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

"Global food crisis" วิกฤติอาหารโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

Sustainability

ความยั่งยืน4 ก.ย. 2566 08:00 น.
  • รู้หรือไม่ อีก 30-40 ปีข้างหน้า อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้อาจจะหมดไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ไขข้อสงสัย "วิกฤติอาหารโลก" คืออะไร และส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
  • แนะนำวิธีการกินแบบยั่งยืน เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อลดวิกฤติอาหารโลก

อย่างที่หลายๆ คนทราบกันดีว่า "อาหาร" คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมนุษย์ ที่จะต้องบริโภคเพื่อใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งมีปริมาณเยอะมาก จนทำให้เราอาจจะลืมนึกไปว่า สักวันหนึ่งสารอาหารเหล่านี้ ก็มีโอกาสหมดลงได้เช่นเดียวกัน

แม้หลายคนจะยังมองว่าปัญหา "อาหารหมดโลก" เป็นเรื่องที่ไกลตัว และดูจะเป็นไปไม่ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า ในปัจจุบันนี้หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติอาหารโลก หรือ Global food crisis การที่อาหารมีราคาสูงขึ้น ทำให้ภาวะการขาดแคลนอาหารของทั่วโลก มีแนวโน้มขยายวงกว้าง และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า อาหารที่อยู่บนโต๊ะเราตอนนี้ อาจจะไม่มีอยู่อีกต่อไป

ซึ่งหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว นั่นก็คือ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ที่ไม่เพียงแต่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือมีสภาพอากาศแปรปรวนเท่านั้น ยังส่งผลต่อกิจกรรมการผลิตอาหารของโลกด้วย

"วิกฤติอาหารโลก" คืออะไร

วิกฤติอาหารโลก หรือ Global food crisis หมายถึง สถานการณ์ที่มีการขาดแคลนอาหาร หรือประชากรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ และมีคุณค่าทางโภชนาการ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ภัยธรรมชาติ ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และปัญหาเชิงระบบภายในระบบการผลิต และการจำหน่ายอาหาร ผลที่ตามมาของวิกฤติอาหาร อาจรวมถึงความหิวโหยที่เพิ่มขึ้น ภาวะทุพโภชนาการ ความไม่สงบทางสังคม และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาล องค์กร และบุคคลต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อวิกฤติอาหารโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change มีผลกระทบอย่างมากต่อวิกฤติการขาดแคลนอาหาร เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น รูปแบบของสภาพอากาศก็คาดเดาได้ยากมากขึ้น นำไปสู่เหตุการณ์สุดขั้ว เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และพายุ เหตุการณ์เหล่านี้สามารถทำลายพืชผล รบกวนการผลิตอาหาร และลดผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงส่งผลต่อความพร้อมของแหล่งน้ำ

จากรายงานของสถาบันทรัพยากรแห่งโลก เผยว่า ภายในปี 2593 มนุษย์ต้องผลิตอาหารเพิ่มถึงร้อยละ 50 ของปัจจุบัน ขณะที่อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ ประกาศว่าภายในปี พ.ศ. 2593 ผลผลิตพืชผลจะลดลงอัตราร้อยละ 10 ถึง 25

เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และอากาศสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น จนทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้พืชผลจมน้ำ และเสียหายได้ นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของสารพิษ ที่ถูกพัดมาจากหลายๆ แห่งในน้ำ ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อนสารพิษได้เช่นกัน 

ในทางกลับกัน บางพื้นที่บนโลกกลับประสบภัยแล้งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราการระเหยของน้ำเพิ่มสูงจากอุณภูมิของโลกสูงขึ้น จนทำให้แหล่งน้ำ และแหล่งน้ำบาดาลหลายแห่งเหือดแห้ง ทำให้น้ำทะเลไหลเข้าแทนที่น้ำจืด ส่งผลต่อพืชเกษตรหลายชนิดที่อาศัยน้ำปริมาณมากในการเพาะปลูก เนื่องจากน้ำมีความเค็มสูงขึ้น

อุณภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลต่อภาคเกษตรกรโดยตรง

นอกจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อพืชพันธุ์และประชากรมนุษย์แล้ว ยังมีผลกับการทำงานของเกษตรกร รวมถึงและอุตสาหกรรมสัตว์ด้วย ดังต่อไปนี้

  • เกษตกรทำงานได้น้อยลง โดยเฉพาะบริเวณป่าดิบชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่อากาศร้อนมาก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำงานได้ กำลังผลิตลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรในภูมิประเทศแถบนี้ ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประสบปัญญหาขาดแคลนอาหาร
  • พืชท้องถิ่น เสี่ยงสูญพันธุ์ ในขณะที่ประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไป อาจปลูกพืชเขตร้อนได้มากขึ้น ทำให้มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปทางตอนเหนือ ซึ่งจะทำพืชท้องถิ่นเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่มีต้นกำเนิดจากที่อื่น
  • ประชากรขาดสารอาหาร เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงถึงระดับหนึ่ง ระบบการทำงานของพืช เช่น การถ่ายละอองเรณู การเติบโตของลำต้น และการพัฒนาระบบรากจะลดลง ทำให้ผลผลิต ปริมาณสารอาหาร รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการในพืชลดลงตามไปด้วย นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนสารอาหารของประชากรโลก
  • ศัตรูพืชสามารถแพร่กระจายไปทั่ว อากาศที่ร้อนขึ้น ยังทำให้ศัตรูพืชสามารถแพร่กระจายในพื้นที่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่น ที่ไม่มีวิวัฒนาการป้องกันศัตรูที่เข้ามาใหม่
  • กระทบการอพยพของฝูงนกกินแมลง การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาของการอพยพย้ายถิ่นฐานของฝูงนกกินแมลง ทำให้เกิดความสับสน
  • จับปลาได้น้อยลง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้ปลาสายพันธุ์หลักอพยพขึ้นไปทางเหนือ แล้วเกิดการแย่งชิงแหล่งอาหารกับสายพันธุ์ท้องถิ่น ทำให้อัตราการอยู่รอดส่งผลให้ปริมาณการจับปลาลดลงถึงร้อยละ 40
  • สัตว์น้ำมีเปลือกจำนวนลดลง การเพิ่มขึ้นคาร์บอนไดออกไซด์ ยังทำให้ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้เหล่าสัตว์น้ำมีเปลือก มีเปลือกที่บางลง จนไม่สามารถป้องกันผู้ล่าได้
  • น้ำนมมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องความร้อนส่งผลกับความเครียดของโคนม
  • สารพิษตกค้างเพิ่มมากขึ้น สัตว์ที่เพาะเลี้ยงในระบบปศุสัตว์ จะอ่อนแอและติดโรคได้ง่ายขึ้น เพราะพยาธิและเชื้อโรคต่างๆ อาศัยอยู่ในสภาพอากาศที่อุ่นและชื้น และเพื่อรักษาสัตว์เหล่านี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงต่อสารพิษตกค้างเพิ่มสูงขึ้น

กินแบบยั่งยืน เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลด "วิกฤติอาหารโลก"

สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่หลายคนนึกถึง ในแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนและอาหารราคาแพงมากยิ่งขึ้น นั่นคือ "การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน" ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่สุด ที่หลายๆ คนเลือกใช้ โดยปฏิบัติได้ ดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีพืชเป็นหลัก โดยบริโภคผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสีในมื้ออาหารให้มากขึ้น เพราะโดยทั่วไปแล้วพืชใช้ทรัพยากร เช่น ที่ดิน น้ำ และพลังงาน น้อยกว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์
  2. เลือกอาหารท้องถิ่น และอาหารตามฤดูกาล สนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลูกในท้องถิ่น เพราะจะช่วยลดพลังงานในการจัดเก็บและถนอมอาหารได้
  3. วางแผนมื้ออาหาร ทำรายการซื้อของ และจัดเก็บอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดขยะ ใช้ของเหลืออย่างสร้างสรรค์ และแปรรูปเศษอาหารเท่าที่ทำได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้มากที่สุด
  4. เลือกใช้อาหารทะเลที่จับ หรือเป็นผลจากฟาร์มอย่างยั่งยืน เนื่องจากการประมงมากเกินไป อาจทำให้ทรัพยากรในมหาสมุทรหมดสิ้น โดยการมองหาใบรับรอง เช่น ฉลาก Marine Stewardship Council (MSC)
  5. ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเลือกใช้ผักผลไม้สด สินค้าเทกอง ใช้ถุง ขวดน้ำ และภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ซ้ำได้
  6. สนับสนุนแนวปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน โดยซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก หรือการค้าที่เป็นธรรมทุกครั้งที่เป็นไปได้
  7. ลดการบริโภคเครื่องดื่มในภาชนะแบบใช้ครั้งเดียว อย่างขวดพลาสติก ให้เปลี่ยนมาบริโภคน้ำประปา หรือใช้เครื่องกรองน้ำแทน
  8. ปลูกอาหารทานเอง หากเป็นไปได้ ให้เริ่มทำสวนเล็กๆ หรือปลูกสมุนไพรในกระถาง อาจเป็นวิธีที่คุ้มค่าในการได้ผลิตผลสดใหม่ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนวิธีบริโภคอาหาร ก็เป็นเพียงทางเลือกเล็กๆ ที่เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่ทำให้การผลักดันเหล่านี้เห็นผลมากที่สุด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน

โดยพัฒนาทุกๆ ขั้นตอนของห่วงโซ่อาหารให้เป็นระบบความยั่งยืน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป ขนส่ง จัดจำหน่าย การบริโภคและจัดการของเสียที่เป็นขยะอาหาร และบรรจุภัณฑ์ เพื่อการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด.

SHARE

Follow us

  • |