- รำลึก 33 ปี การจากไปของ "สืบ นาคะเสถียร" อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชายผู้รักป่ายิ่งกว่าชีวิต
- ประวัติ "สืบ นาคะเสถียร" ชายผู้เสียสละเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
- จุดเริ่มต้น "มูลนิธิสืบนาคะเสถียร" ผู้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ป่า
วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกการจากไปของ "สืบ นาคะเสถียร" อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชายผู้รักป่ายิ่งกว่าชีวิต สำหรับชื่อของ สืบ นาคะเสถียร ยังคงติดตรึงอยู่ในใจใครหลายคนแม้จะผ่านมาแล้ว 33 ปี เพราะเขาไม่ใช่เพียงคนที่รักและอุทิศตัวของเขาเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้เท่านั้น แต่เขาอุทิศทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของเขาไว้ที่นั่น ด้วยเสียงปืนที่ลั่นขึ้นกลางป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 เขาหวังว่าจะมีส่วนทำให้ผู้คนเหลียวมามองป่ามากกว่าเดิมด้วยการเสียสละชีวิต
สำหรับประวัติของ สืบ นาคะเสถียร ชายหนุ่มผู้รักป่ายิ่งกว่าชีวิต หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สืบ ก็กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น กระทั่ง 2526 สืบ ได้ขอย้ายตัวเองเข้ามาเป็นนักวิชาการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว เป็นจังหวะที่สืบได้แสดงความเป็นนักวิชาการออกมาอย่างเต็มที่ งานวิจัยศึกษาสัตว์ป่าเป็นงานที่ สืบ ทำได้ดี และมีความสุขในการทำงาน
สืบ นาคะเสถียร รักงานด้านนี้เป็นชีวิตจิตใจ เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ผูกพันกับสัตว์ป่าอย่างจริงจัง งานวิจัยในช่วงแรกของสืบเป็นการวิจัยนก สืบได้เริ่มใช้เครื่องมือในการบันทึกงานวิจัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้กลายเป็นผลงานการวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญของเมืองไทยในเวลาต่อมา ได้แก่ ภาพถ่ายสไลด์สัตว์ป่าหายากนับพันรูป ม้วนเทปวิดีโอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และปัญหาการทำลายป่าในเมืองไทยหลายสิบม้วน โดยผลงานทั้งหมด สืบเป็นคนถ่ายและตัดต่อเอง
กระทั่งในปี 2529 สืบ นาคะเสถียร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบก็รู้ดีว่ามีสัตว์อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายจากการสร้างเขื่อน ทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหา และตระหนักว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเหลือป่าและสัตว์ป่าจากการถูกทำลายได้ ทำให้เขาเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นนักอนุรักษ์ เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ถูกระงับไป
ในปี 2532 สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมกับปัญหามากมายที่เขาต้องแก้ไขให้ได้ อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุก เพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า สืบพยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะจะทำให้คนหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้
แม้ว่าสืบจะตั้งเจตนารมณ์ที่จะรักษาผืนป่าห้วยขาแข้งไว้ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แต่ก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจากการดูแลผืนป่าขนาดมากกว่าหนึ่งล้านไร่ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์
ด้วยความเหนื่อยล้า ความผิดหวัง และความคับแค้นใจ ช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยปืนหนึ่งนัดในป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง พร้อมเขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับ การเสียชีวิตของ สืบ เป็นจุดเริ่มต้นของ "ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ"
การเสียชีวิตของสืบไม่สูญเปล่า ความพยายามทั้งหมดก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกในปี 2534 ซึ่งการอุทิศตนของสืบ เป็นการปลุกคนให้ลุกขึ้นมาสนใจผืนป่าอย่างจริงจัง
จุดเริ่มต้น "มูลนิธิสืบนาคะเสถียร" ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นสิบวัน หลังวันพระราชทานเพลิงศพของสืบ คือวันที่ 18 กันยายน 2533 คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกับสืบ ซึ่งมูลนิธิมีหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายรวมถึงเพิ่มพูนความเข้าใจในการอนุรักษ์ พร้อมปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ป่าที่จะดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติ
ทั้งนี้ทำให้วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี กลายเป็นวันระลึกถึงความเสียสละของ "สืบ นาคะเสถียร" เพื่อให้ทุกคนจดจำ หวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์ของสืบต่อไป.