• Future Perfect
  • Articles
  • "อนุพงษ์" ฝากมหาดไทย สร้างความยั่งยืน ด้านการจัดการขยะ-สิ่งแวดล้อม

"อนุพงษ์" ฝากมหาดไทย สร้างความยั่งยืน ด้านการจัดการขยะ-สิ่งแวดล้อม

Sustainability

ความยั่งยืน31 ส.ค. 2566 18:20 น.

มท.1 ฝากทีมมหาดไทย ร่วมเป็นกำลังสำคัญ เสริมสร้างความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ UN เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในทุกมิติ 

วันที่ 31 ส.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ในประเทศไทย และร่วมประชุมหารือข้อราชการว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการบริหารจัดการขยะระหว่างกระทรวงมหาดไทย และ UN โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการตัวอย่างความสำเร็จการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่กระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมเป็นภาคีในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ร่วมกับทีม UN ในไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้คิดริเริ่มดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ก่อให้เกิด “จังหวัดสะอาด” มีการส่งเสริมการคัดแยกขยะ โดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) รวมถึงการดำเนินโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) สู่ชั้นบรรยากาศอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงขยายผลต่อเนื่องสู่การพัฒนาในระดับพื้นที่สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการขับเคลื่อนขยายผลให้ครบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ชาวมหาดไทยจะได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการในระดับพื้นที่ เพื่อนำประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ

คุณกีต้า กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดนโยบายอย่างชัดเจนในการลงมือแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการขยะ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงความยั่งยืนในระดับพื้นที่ (SDGs Localization) และการริเริ่มการบริหารจัดการขยะผ่านโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ถือเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถช่วยเติมเต็มกระบวนการสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ แก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสามารถขยายผลต่อเนื่องไปถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตระหว่างกระทรวงมหาดไทย และธนาคารกสิกรไทย

โดยเรื่องการบริหารจัดการขยะนั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต่างก็ต้องเผชิญ และตนนั้นก็รู้สึกชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มโครงการนี้ ที่จะสามารถเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการขยะให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ร่วมกัน

ทีมสหประชาชาติทั้ง 21 หน่วยงานในประเทศไทย นำโดยโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) มีความยินดีที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดการขยะในพื้นที่ รวมทั้งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ร่วมคิดแนวทางปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อบรรลุ SDGs ใน 3 จังหวัดนำร่อง คือ อุดรธานี สงขลา (อำเภอหาดใหญ่) และชลบุรี รวมทั้งส่งเสริมการรณรงค์กระบวนการ Recycle ในชุมชนให้เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 20-23 และยินดีที่จะได้ร่วมสนับสนุนการจัดแสดงผลลัพธ์และการดำเนินโครงการต่างๆ ที่กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนร่วมกับ UN ในเวทีนานาชาติ และ COP28 เพื่อจะเป็นแบบอย่างที่ดีในประเทศอื่นๆ ได้

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นโครงการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งจากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นส่งต่อมายังปัจจุบันผ่านการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนที่มีพื้นที่บริเวณโดยรอบบ้าน จัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” และขยายผลไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง (จังหวัดสมุทรสงคราม ลำพูน เลย และอำนาจเจริญ) ทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับธนาคารกสิกรไทย โดยได้มีการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในราคาตันละ 260 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 816,400 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็ได้คืนไปสู่ท้องถิ่นเพื่อสร้างประโยชน์คืนแก่ชุมชนต่อไป

โดยกระทรวงมหาดไทยจะเร่งรัดดำเนินการขยายผลให้ครบถ้วน ร้อยละ 100 ทุกครัวเรือน ทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ระยะที่ 3 โดยมีการทวนสอบการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนใน 76 จังหวัด และดำเนินการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ โดยระหว่างปี 2565-2569 คาดว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนดที่ 1.48 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังได้ขับเคลื่อนดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ การน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนพึ่งพาตนเองและมีการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมกับนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อน ซึ่งสอดคล้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ได้เห็นและร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับกระทรวงมหาดไทย ด้วยแนวคิด "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”".

SHARE

Follow us

  • |