• Future Perfect
  • Articles
  • น้ำสะอาดบนโลกกำลังลดลง มนุษย์จะรับมืออย่างไรในวิกฤติขาดแคลนน้ำ

น้ำสะอาดบนโลกกำลังลดลง มนุษย์จะรับมืออย่างไรในวิกฤติขาดแคลนน้ำ

Sustainability

ความยั่งยืน29 ส.ค. 2566 13:17 น.
  • พื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ แต่รู้หรือไม่ว่า "น้ำจืด" ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มีเพียง 3% เท่านั้น
  • งานวิจัยค้นพบแหล่งน้ำจืดทั่วโลกลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์
  • มนุษย์มีวิธีเตรียมรับมืออย่างไร ในวิกฤติขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2050 จำนวนผู้คนในเมืองที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 930 ล้านคน ในปี 2016 เป็น 2,400 ล้านคน 

"น้ำ" เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านการบริโภคและอุปโภค แต่รู้หรือไม่ว่า พื้นที่ 2 ใน 3 ของโลก ถูกปกคลุมด้วยน้ำ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็น "น้ำเค็ม" ในทะเลและมหาสมุทร ทำให้น้ำจืดมีเพียง 3% เท่านั้น และที่สำคัญคือ 2 ใน 3 ของน้ำจืดนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ หรือไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที ทำให้ปริมาณ "น้ำจืด" ที่นำมาใช้หล่อเลี้ยงประชากรโลกที่มีกว่า 8,000 ล้านคนได้นั้นมีปริมาณน้อยเพียง 0.3 ส่วนเท่านั้น


แหล่งน้ำจืด

1. น้ำจืดที่ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ เช่น ธารน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็ง ความชื้นในดิน ความชื้นในบรรยากาศ

2. น้ำจืดที่นำมาใช้ได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • น้ำจืดที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที คือ น้ำใต้ดิน คือแหล่งน้ำที่เกิดจากการสะสมของน้ำที่ซึมผ่านชั้นดินและชั้นหินใต้ดิน น้ำที่ซึมลงไปใต้ดินบางส่วนจะสะสมอยู่ตามช่องว่างของเม็ดดิน เรียกว่า น้ำใต้ดิน

เมื่อน้ำใต้ดินนี้ได้รับความร้อนจากแสงแดดก็จะระเหยไป ส่วนน้ำที่เหลือจะซึมต่อไปแทรกรวมกันอยู่ตามช่องว่างของตะกอนในหิน หรือตามรอยแยกของชั้นหิน เรียกน้ำที่ถูกกักเก็บนี้ว่า "น้ำบาดาล"

  • น้ำจืดที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที คือ แหล่งน้ำผิวดิน หรือ แหล่งน้ำที่อยู่บนผิวดิน เนื่องมาจากภูมิประเทศของพื้นโลกไม่ราบเรียบเสมอกัน ทำให้น้ำไหลรวมกันเป็นแหล่งน้ำผิวดิน เช่น ทะเลสาบ บึง แม่น้ำ รวมไปถึงแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย


ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ความต้องการน้ำจืดทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การขยายตัวของภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้การขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เผยแพร่รายงานการพัฒนาน้ำโลก (UN World Water Development Report) ก่อนการประชุมสุดยอดน้ำของสหประชาชาติในนิวยอร์ก ถึงวิกฤติขาดแคลนน้ำทั่วโลกอาจ "สูงจนควบคุมไม่อยู่" เนื่องจากการบริโภคมากเกินไป และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยระบุว่า การใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับอิทธิพลจากการเติบโตของประชากร และรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไปภายในปี 2050 จำนวนผู้คนในเมืองที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 930 ล้านคน ในปี 2016 เป็น 2,400 ล้านคน คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำในเมืองจะเพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050

หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ "วิกฤตการณ์ทั่วโลกย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" ริชาร์ด คอนเนอร์ (Richard Connor) ผู้เขียนหลักของรายงานกล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน

นอกจากนี้ยังพบว่า งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ "สมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์" ค้นพบว่า ปริมาณน้ำตามทะเลสาบขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำกว่าครึ่งหนึ่งของโลกกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งการสร้างเขื่อน การอุปโภคบริโภคน้ำ รวมทั้งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรราว 1 ใน 4 ของโลก 

โดยระดับน้ำในทะเลสาบที่ลดระดับลงส่วนใหญ่ มักจะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งในสหรัฐอเมริกา เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง อินเดียตะวันตก จีนตะวันออก ตอนเหนือและตะวันออกของยุโรป ตอนเหนือของแคนาดา ทางใต้ของแอฟริกา พื้นที่ส่วนมากของอเมริกาใต้และโอเชียเนีย ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี

สำหรับพื้นที่ที่จะกระทบมากที่สุดจะเป็นทะเลซอลตัน ในแคลิฟอร์เนีย ทะเลสาบเกรตซอลต์ ในรัฐยูทาห์ และทะเลสาบก็อดซาเรห์ ในอัฟกานิสถาน โดยน้ำที่เคยนำมาใช้ได้ตอนนี้ ไม่เหมาะที่จะนำมาดื่มได้อีกแล้ว เพราะมีความเข้มข้นของเกลือสูง และจะส่งผลให้ระบบนิเวศในภูมิภาคได้รับผลกระทบ จนทำให้สัตว์หลากหลายสายพันธุ์ไม่สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ ขณะที่มนุษย์จะขาดแหล่งน้ำทำการเกษตร และไม่มีน้ำพอใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคอีกต่อไป

เนื่องจากปริมาณน้ำสะอาดในปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่อง สามารถสรุปได้ว่าจะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ดังนี้

  • มนุษย์มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ทั้งในด้านการบริโภค อุปโภค
  • สัตว์ขาดแคลนน้ำในการดำรงชีวิต
  • ผลกระทบด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม
  • ผลกระทบในการใช้น้ำผลิตไฟฟ้า

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

  • ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากในชีวิตประจำวัน เช่น ปิดน้ำเมื่อไม่ใช้, ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ในเวลาอาบน้ำ แปลงฟัน ล้างรถ, เปลี่ยนไปล้างผักผลไม้ในภาชนะรองเพื่อประหยัดน้ำ, หมั่นตรวจสอบรอยรั่วของอุปกรณ์การใช้น้ำ, นำน้ำที่ใช้เพียงครั้งเดียว ไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น น้ำสุดท้ายของการล้างผัก สามารถนำไปรถน้ำต้นไม้ได้
  • ปลูกฝังจิตสำนักการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า
  • ใช้การทำเกษตรแนวใหม่ ลดการใช้น้ำ เช่น ปลกพืชใช้น้ำน้อย, การทำเกษตรแบบน้ำหยด
  • การบำบัดน้ำเสียในชุมชน และในภาคอุตสาหกรรม ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • การอนุรักษ์แหล่งน้ำ เช่น รักษาป่าไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำ ชะลอการไหลของน้ำและช่วยเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำใต้ดิน 
SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |