- UN ประกาศยุคของ "ภาวะโลกร้อน" สิ้นสุดลงแล้ว จากนี้โลกเข้าสู่ยุค "โลกเดือด"
- รู้จัก "ภาวะโลกเดือด" สัญญาณเตือนเมื่อโลกร้อนเข้าสู่จุดวิกฤติ ส่งผลกระทบในวงกว้าง สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศสุดขั้ว วิกฤติน้ำแล้ง ความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาสุขภาพ
- ส่องปัจจัยทำให้โลกเดือด มาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ จากการกระทำของมนุษย์ เอลนีโญ การระเบิดของภูเขาไฟ
ที่ผ่านมา เราคุ้นชินกับคำว่า "ภาวะโลกร้อน" หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากโลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้อย่างปกติ จึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)
แต่ล่าสุด นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศว่า ยุคของภาวะโลกร้อน (global warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไป โลกเข้าสู่ยุค "โลกเดือด" (global boiling) หลังจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นเดือนที่โลกร้อนจัดที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาเป็นประวัติการณ์
จากโลกร้อน สู่ โลกเดือด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ว่า หลังจากที่ UN ได้ออกมาเตือนภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด โดยเลขาธิการสหประชาชาติ ได้พยายามเน้นย้ำความร่วมมือของโลกในการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยการใช้วลีเด็ดๆ สร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น และมันก็เกิดขึ้นแล้ว (รหัสแดงต่อมวลมนุษยชาติ Code red for humanity แผนที่ความทุกข์ยากของมนุษย์ Atlas of human suffering บทสวดสัญญาสภาพอากาศที่แตกสลาย A litany of broken promises ถนนสู่นรกสภาพภูมิอากาศ A highway to climate hell และล่าสุด โลกกำลังเดือด A global boiling)
ปัจจัยที่ทำให้ปี 2565 มีอุณหภูมิสูงกว่าอดีต 1,000-10,000 ปี มาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ
1. การกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส
2. ปรากฏการณ์ El Nino ที่รุนแรง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3 องศาเซลเซียส
3. เป็นช่วงเวลาการปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.05 องศาเซลเซียส
4. การระเบิดของภูเขาไฟ Tonga-Hunga ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.035 องศาเซลเซียส ดังนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยโดยรวมของโลกจึงแตะประมาณ 1.5 ± 0.2 องศาเซลเซียส ในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นขีดจำกัดตามข้อตกลงปารีส 2015 ที่จะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ. 2100 แต่มันได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิจะยืน หรือสูงกว่านี้ในระยะสั้น (ขึ้นกับสภาพอากาศแปรปรวนในแต่ละปี)
อย่างไรก็ตามมันได้สร้างความรุนแรง และความเสียหายบนโลกใบนี้ เช่น เหตุการณ์คลื่นความร้อนในเอเชีย อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา น้ำท่วมใหญ่ในอินเดีย เกาหลีใต้ จีน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
"ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ IPCC ที่ได้ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการประเมิน และเขียนรายงานฉบับล่าสุด (IPCC AR6-2022) จึงได้แนะนำไปยังหลายประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยโดยต้องให้ความสำคัญกับมาตรการการปรับตัว (Adaptation) เนื่องจากผลกระทบกับเราได้เกิดขึ้นแล้ว และจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ดังคำกล่าวที่ว่า "โลกกำลังป่วย ไทยกำลังเปื่อย" ดังนั้นเราจึงต้องมีรัฐบาล (ที่ไม่ใช่รักษาการ) เข้ามากำหนดนโยบายด้าน Adaptation อย่างเป็นรูปธรรม"
ภาวะโลกเดือด คืออะไร
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า "ภาวะโลกเดือด" ในแง่ของวิทยาศาสตร์ไม่มีถ้อยคำนี้ ถ้อยคำที่เรามีอยู่คือภาวะโลกร้อน แต่ถ้อยคำนี้ออกมาจากการพูดของเลขาธิการสหประชาชาติ จึงหมายถึงว่า โลกร้อนเข้าสู่จุดวิกฤติ และที่สำคัญคือความวิกฤตินี้ยังไม่เห็นทางออก และจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาวะโลกเดือด อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ผ่านมา 4-5 ปี ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงของลานีญา โลกจะเย็นกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโควิด-19 ทำให้คนหันไปสนใจเรื่องของโรคระบาด แต่ในปีนี้เป็นปีของเอลนีโญ จะทำให้โลกร้อนขึ้น แล้งมากขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อโลกร้อนมาถึงช่วงของเอลนีโญ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ซ้อนทับกัน ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดตั้งแต่เคยมีบันทึกมา และเรายังเชื่อต่อไปว่ายังมีอีกหลายต่อหลายเดือนที่จะร้อนกว่านี้ในอนาคต
ดังนั้นเมื่อถามว่า ภาวะโลกเดือด คืออะไร จึงหมายความว่า เรากำลังเข้ามาสู่ช่วงของยุคที่ร้อนขึ้นจนเป็นสถิติและจะเกิดบ่อยขึ้น แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตัวชี้วัดอีกตัวคือ อุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสที่หลายคนกลัวกันว่า อุณหภูมิโลกจะถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึงระดับนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เพียงแต่ว่าเป็นในลักษณะของกราฟการขึ้นลง เพราะฉะนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่เราแตะขึ้นมาถึง 1.5 องศาเซลเซียส จากนั้นก็จะลงมา แต่กราฟก็จะยกตัวขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ภาวะโลกเดือด กระทบชีวิตเด็ก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ภาวะโลกเดือด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และพัฒนาการของเด็ก โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน เปิดเผยว่า ภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร ภัยธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก โดยนักวิจัย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในสิ่งแวดล้อม มลภาวะจากสิ่งต่างๆ ส่งผลต่อเมแทบอลิซึมในร่างกายของเด็กเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กกว่า 90% ที่ช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี หายใจเอามลพิษเข้าไป
ล่าสุดยูนิเซฟ องค์กรเพื่อเด็กและเยาวชน มีความกังวลว่าภาวะโลกเดือดจะส่งผลกระทบต่อเด็กกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อทุกช่วงอายุตั้งแต่ในครรภ์ วัยเด็ก ไปจนถึงวัยรุ่น และอากาศร้อนจัดอาจมีส่วนทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด และมลพิษต่างๆ ยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในครรภ์ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มทำให้เกิดโลกเครียดอย่างรุนแรง เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย กระทบต่อสภาพจิตใจในระยะยาว.