- สถานการณ์การแพร่พันธุ์ของ "สัตว์น้ำต่างถิ่น" หรือ "เอเลี่ยนสปีชีส์" ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
- รู้จัก "เอเลี่ยนสปีชีส์" 13 ชนิด ห้ามนำเข้าประเทศไทย
- แนะนำวิธีการปล่อย "พันธุ์ปลาไทย" ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ
กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั่นก็คือสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของ "สัตว์น้ำต่างถิ่น" หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์น้ำต่างถิ่นเหล่านี้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว สามารถอยู่ได้ในเกือบทุกระบบนิเวศ จนรุกรานสัตว์พื้นถิ่น ทำให้สัตว์พื้นถิ่นมีน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์
โดยในช่วงวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลพิเศษต่างๆ พุทธศาสนิกชนมักนิยมทำบุญด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกันเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างบุญกุศลครั้งใหญ่ และเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต
แต่เนื่องจากสัตว์น้ำที่เลือกปล่อยบางชนิดถูกปล่อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็น "สายพันธุ์ต่างถิ่น" อาทิ ปลาซักเกอร์, ปลาดุกบิ๊กอุย, เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง, ตะพาบไต้หวัน ฯลฯ ส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้เมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะรุกรานพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทย จนทำให้บางชนิดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งยังทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย
13 เอเลี่ยนสปีชีส์ ห้ามนำเข้าไทย
ก่อนหน้านี้ กรมประมง เคยเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. พ.ศ.2564 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามเพาะเลี้ยง
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศไว้ ห้ามมีให้บุคคลใดเพาะเลี้ยงซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย โดยจากบัญชีท้ายประกาศ ประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ดังนี้
- ปลาหมอสีคางดำ
- ปลาหมอมายัน
- ปลาหมอบัตเตอร์
- ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
- ปลาเทราต์สายรุ้ง
- ปลาเทราต์สีน้ำตาล
- ปลากะพงปากกว้าง
- ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
- ปลาเก๋าหยก
- ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
- ปูขนจีน
- หอยมุกน้ำจืด
- หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena
ทั้งนี้ ห้ามปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำผิดซ้ำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท
ขณะที่ "กรมประมง" ได้แนะนำวิธีการปล่อยพันธุ์ปลาไทยในการทำบุญที่ถูกต้อง และไม่ทำลายระบบนิเวศ ดังนี้
1. ปลาตะเพียน/ปลาตะเพียนทอง/ปลากระแห/ปลาสร้อยขาว/ปลากาดำ/ปลาซ่า ควรปล่อยในแม่น้ำ ลำคลองที่เป็นแหล่งน้ำไหล เนื่องจากเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนสูง
2. ปลาช่อน/ปลาดุกอุยหรือดุกนา/ปลาหมอไทย ควรปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก และมีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง
3. ปลาไหล ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย
4. กบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ จึงไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่มีกอหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย
5. ปลาสวาย/ปลาบึก ควรปล่อยลงในแม่น้ำลำคลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ในการปล่อยสัตว์น้ำยังต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของสัตว์น้ำ และสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่จะนำไปปล่อยด้วย เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสรอดให้กับสัตว์น้ำที่ได้เลือกนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีข้อควรคำนึงดังนี้
1. คุณภาพของน้ำที่เอื้อต่อการอาศัยของสัตว์น้ำ โดยก่อนปล่อยสัตว์น้ำควรสังเกตสีน้ำในแหล่งที่ปล่อยต้องมีสีไม่ดำ หรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้
2. คุณภาพของสัตว์น้ำที่ปล่อย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ
3. ควรปล่อยลูกปลาขนาดเล็ก ไม่ควรปล่อยปลาขนาดใหญ่ที่ซื้อมาจากตลาด เนื่องจากปลาหน้าเขียงส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยงที่ได้ขนาดบริโภคแล้ว หากปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะแตกต่างจากบ่อเลี้ยงจะปรับตัวได้ยาก ทำให้โอกาสในการรอดมีน้อย
4. ช่วงเวลาในการปล่อยสัตว์น้ำ ควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันและอาจตายได้
อย่างไรก็ตาม หากทุกๆ คนช่วยกันตระหนักถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการทำบุญ โดยไม่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และหันมาปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยที่ถูกต้องแทน นอกจากจะไม่ทำลายระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้บุญเต็มร้อย เพราะการปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยถือเป็นการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย.