บ้านเล็กในป่าใหญ่

Sustainability

ความยั่งยืน12 ส.ค. 2566 06:20 น.

วันนี้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ข้าพระพุทธเจ้า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัย ทรงพระเจริญ พระพุทธเจ้าข้า

วันนี้เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ด้วย เพื่อรำลึกถึงพระคุณอันใหญ่หลวงของแม่ตั้งแต่อุ้มท้องเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่ ทั่วประเทศมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติมากมาย อุทยานเบญจสิริ มีการแสดง “ม่านน้ำแห่งพระมหากรุณาธิคุณ แม่แห่งแผ่นดิน” ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจต่างๆ ถึง 31 สิงหาคม วันละ 3 รอบ เวลา 19.00 น. 20.00 น. และ 21.00 น.

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันนี้ผมขอนำเรื่อง “บ้านเล็กในป่าใหญ่” หนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2525 ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลมาเล่าสู่กันฟัง ท่ามกลางสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติไปทั่วโลก ภูมิอากาศที่วิปริตหนาวเป็นร้อน ร้อนเป็นหนาว เกิดพายุใหญ่ฝนกระหน่ำเกิดน้ำท่วมใหญ่ไปทั่วโลก และไฟป่าที่รุนแรงขึ้นทุกปี กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ทั้งหมดนี้เกิดจากสาเหตุเดียวคือ การตัดไม้ทำลายป่า ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและความชุ่มชื่นที่สร้างสมดุลให้กับภูมิอากาศของโลก

โครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” เป็นโครงการพระราชดำริ เพื่อปกป้องคุ้มครองป่า จากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอยของชนกลุ่มน้อยให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงริเริ่ม โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2525 มีพระราชดำรัสกับราษฎรบ้านถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” โดยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน สร้างความเจริญงอกงามให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่รอบๆป่า

บ้านเล็กในป่าใหญ่ แห่งแรกเกิดขึ้นที่ บ้านห้วยไม้หก อ.อมก๋อย เชียงใหม่ ในปี 2534

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ขึ้นทั่วทุกภูมิภาค เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า แต่ข้อมูลล่าสุดดูเหมือนจะมีเพียง 5 แห่งเท่านั้น หนึ่งในบ้านเล็กในป่าใหญ่ที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันโด่งดังเพื่อชม “ดอกซากุระเมืองไทย” หรือ “นางพญาเสือโคร่ง” ดอกสีชมพูที่บานสะพรั่งในหน้าหนาวเดือนมกราคมก็คือ “ดอยผ้าห่มปก” อ.แม่อาย เชียงใหม่ เป็นจุดกางเต็นท์ชมวิวที่สวยงามมาก

ปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะมีโครงการปลูกป่าปลูกต้นไม้เป็นล้านต้น เพื่อลดสภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามประเทศไทย และ ผู้นำไทยก็ไปรับปากในเวทีโลกที่ COP26 ว่า จะทำให้ประเทศไทยเป็น Net Zero การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 แต่ การตัดไม้ทำลายป่าในปัจจุบันก็ยังเป็นไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ของนายทุนที่สนิทสนมกับผู้มีอำนาจรัฐ

กรมป่าไม้ รายงานว่า พื้นที่ป่าไม้ของไทยในปี 2565 เหลือเพียง 31.57% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด คิดเป็น 102 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งประเทศ 320 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2564 0.02% คิดเป็น 76,459 ไร่ แสดงว่าปีที่ผ่านมายังมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 76,000 ไร่ สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่บอกว่าจะปลูกป่าเพิ่มขึ้น

ป่าต้นน้ำ มีคุณค่าต่อคนไทยทั้งประเทศมากเพียงใด ผมจะเล่าให้ฟัง ป่าต้นน้ำของไทยสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 687.84 ลบ.ม.ต่อไร่ ถ้าเป็น ป่าดิบเขาสามารถเก็บน้ำได้ถึง 1,516.08 ลบ.ม.ต่อไร่ ประเทศไทยในอดีตจึงสมบูรณ์พูนสุขในน้ำมีปลาในนามีข้าว เมื่อป่าเหล่านี้ถูกตัดทำลาย หน้าร้อนก็ฝนแล้ง หน้าฝนก็น้ำท่วม วิกฤติซ้ำซากที่คนไทยต้องเจอทุกวันนี้

ผมอยากให้ “รัฐบาลใหม่” ฟื้นฟูโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ขึ้นมาอีกครั้ง มีบ้านเล็กในป่าใหญ่ทุกป่า ให้คนกับป่าเป็นเพื่อนกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เหมือนป่าในต่างประเทศที่เจริญแล้ว คนกับป่าต้องอยู่ด้วยกันครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม

SHARE
03:25

พนักงานทำเค้กครึ่งล้านหล่นกลางงานแต่ง แต่สิ่งที่เจ้าสาวทำหลังจากนี้ทำเอาหลายคนต่างยกนิ้วให้

Follow us

  • |